เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มิ.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ให้กระทรวงกลาโหมจัดตั้ง ‘กองทัพอวกาศ’ เป็นเหล่าทัพที่ 6 ของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเรียกร้องมานานหลายเดือน
ประเด็นเรื่องการก่อตั้งกองทัพอวกาศ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสหรัฐฯ แต่คำสั่งล่าสุดของนายทรัมป์ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมากมาย ทั้งเรื่องรูปร่างหน้าตาและหน้าที่ของกองทัพอวกาศ, การหางบประมาณ รวมไปถึงปัญหาที่ว่า ผู้นำสหรัฐฯ คนนี้จะสามารถจัดตั้งเหล่าทัพใหม่ขึ้นมาได้หรือไม่
กองทัพอวกาศคืออะไร?
นายทรัมป์เคยพูดเอาไว้เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า “อวกาศเป็นเขตสงครามเหมือนกับพื้นดิน, อากาศ และทะเล” แน่นอนด้วยคำพูดแบบนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึงฉากการขับยานต่อสู้กันในภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไซ-ไฟ แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องความมั่นคงทางอวกาศของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่พื้นฐานกว่านั้นมาก
...
ลอรา เกรโก นักวิทยาศาสตร์อาวุโสในโครงการความมั่นคงโลก ของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย ระบุว่า การรักษาความมั่นคงทางอวกาศส่วนใหญ่คือการป้องกันไม่ให้ประเทศอื่นๆ เข้ามายุ่งกับดาวเทียมของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่มาแห่งความแข็งแกร่งของกองทัพแดนพญาอินทรี
นับตั้งแต่ปี 2527 กองทัพอากาศสหรัฐฯ ส่งดาวเทียมไปยังวงโคจรโลกมากกว่า 280 ดวง ซึ่งมีหน้าที่ตั้งแต่พยากรณ์อากาศ, สังเกตการณ์ขีปนาวุธ และช่วยด้านการสื่อสารของกองทัพ การป้องกันไม่ให้ต่างชาติรบกวนสัญญาณหรือเจาะระบบดทวเทียมแล้วขโมยข้อมูลไป จึงเป็นเรื่องความมั่นคงระดับชาติ และเป็นไปได้ที่กองทัพอวกาศจะเข้ามารับหน้าที่นี้
แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้กองทัพอวกาศของทรัมป์ไม่เกิดขึ้นจริง
1. ขาดเสียงสนับสนุน
จนถึงตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าประธานาธิบดีทรัมป์ จะสามารถจัดตั้งกองทัพอวกาศของเขาขึ้นมาได้หรือไม่เพราะตามกฎหมายของสหรัฐฯ การก่อตั้งเหล่าทัพใหม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสเสียก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากคนของเขาเอง
ก่อนหน้านี้ในเดือนมิ.ย. 2560 เลขาธิการกองทัพอากาศ ฮีทเธอร์ วิลสัน ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทัพอวกาศว่า “ตอนนี้เพนตากอนซับซ้อนมากพออยู่แล้ว การตั้งกองทัพอวกาศจะยิงทำให้มันซับซ้อนมากขึ้น เพิ่มกล่องอีกหลายใบเข้าไปในแผนภูมิองค์กร และเพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก”
แม้แต่นาย เจมส์ แมตติส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่เห็นด้วยการการตั้งกองทัพอวกาศ “ผมคัดค้านเรื่องการสร้างเหล่าทัพใหม่และการเพิ่มสาขาขององค์กร ในช่วงเวลาที่เราต้องตั้งใจลดค่าใช้จ่าย”
2. สหรัฐฯ มีกองทัพอวกาศอยู่แล้ว และใหญ่ด้วย
อย่างที่ระบุไปข้างต้นว่า สหรัฐฯ กำลังหายุทธวิธีคุ้มครองดาวเทียมของประเทศ แต่นั่นเป็นสิ่งที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ กำลังทำอยู่แล้ว โดยเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘กองบัญชาการอวกาศกองทัพอากาศ’ (AFSPC) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2525 และไม่ได้เป็นหน่วยงานเล็กๆ เพราะปัจจุบัน AFSPC มีเจ้าหน้าที่มากกว่า 36,000 คนประจำการอยู่ในสถานี 134 แห่งทั่วโลก
...
งานของ AFSPC เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลของโลก, พยากรณ์อากาศ, การสื่อสาร, บัญชาการและควบคุมการยิงอาวุธภาคพื้น, ช่วยนาซาและบริษัทเอกชนในการยิงจรวด และครอบคลุมด้านความมั่นคงของดาวเทียมด้วย
ซึ่งนาย ฌอน โอคีฟ อดีตผู้บริหารขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) เชื่อว่าหน่วยงานอวกาศของกองทัพสหรัฐฯ ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้วโดยไม่ต้องเพิ่มเหล่าทัพใหม่ “การสร้างกองทัพแยกอย่าง ‘กองทัพอวกาศ’ เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาใหม่ และไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า โครงการอวกาศใดๆ จะทำได้ดีกว่าที่พวกเขากำลังทำอยู่แล้วภายใต้กองทัพอากาศสหรัฐฯ”
3. สิ้นเปลืองงบประมาณ
เทคโนโลยีเกี่ยวกับอวกาศใช้เงินมาก งบประมาณประจำปี 2562 ที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ ขอไปนั้นมีค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาระบบการควบคุมในอวกาศถึง 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.8 แสนล้านบาท) และเป็นเพียงส่วนส่วนหนึ่งในงบประมาณด้านฮาร์ดแวร์ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาใช้ไปถึง 44,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.45 ล้านล้านบาท)
...
ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร, การขนส่ง, การพัฒนาด้านต่างๆ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองบัญชาการอวกาศกองทัพอากาศอีก และการแยกหน่วยงานความมั่นคงทางอวกาศออกจากกองทัพอากาศ หลังจากผ่านมากกว่า 30 ปีเพื่อสร้างกองทัพอวกาศ จำเป็นต้องมีการสร้างศูนย์บัญชาการแยกต่างหาก เลือกเสนาธิการและเจ้าหน้าที่บริหารใหม่ ซึ่งจะทำให้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมจำนวนมาก
แม้จะเป็นความจริงที่ว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องเพิ่มอำนาจการแข่งขันด้านอวกาศเพื่อป้องกันการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นได้ หลังประเทศจีนไม่ปิดบังเลยว่าพวกเขากำลังผลักดันการพัฒนาดาวเทียมที่มีขีดความสามารถในการทำลายล้าง ส่วนรัสเซียก็ยิ่งแสดงท่าทีชัดเจนว่าพวกเขาต้องการฟื้นสถานะมหาอำนาจทั้งบนบก ในทะเล บนฟ้า และอวกาศ แต่สหรัฐฯ สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องแยกหน่วยงานด้านอวกาศออกจากกองทัพอากาศเลย