นับเป็นความก้าวหน้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีการตรวจจับความผิดปกติในร่างกาย โดยการกลืนอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบสุขภาพได้อย่างเข้าถึงและแม่นยำ ปัจจุบันมีการใช้วิธีนี้อย่างกว้างขวางเพื่อระบุปัญหาในลำไส้ แต่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ หรือสถาบันเอ็มไอที (The Massachusetts Institute of Technology–MIT) ในสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาแคปซูลด้วยการใช้วิธีทางพันธุวิศวกรรมมาตรวจวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหาร

แคปซูลมีขนาดยาวมากกว่า 1 นิ้ว ติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กและพันธุวิศวกรรมของเซลล์นับล้าน นอกจากนี้ยังมีกล้อง เครื่องวัดอุณหภูมิ และเครื่องวัดค่าความเป็นกรด เบื้องต้นได้นำไปทดลองกับสุกร โดยใช้สายพันธุ์ที่ไม่อันตรายของแบคทีเรียอี.โคไลมาทดสอบ นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าเซลล์จะถูกดัดแปลงแก้ไขจากดีเอ็นเอแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ทำให้ตรวจสอบเลือดได้ และ เมื่อแสงในแคปซูลสว่างขึ้น ก็จะส่งสัญญาณไปที่สมาร์ทโฟนหรือมือถือแบบสัมผัส

จากการทดสอบกับสุกร แคปซูลตรวจพบสัญญาณการตกเลือด แต่หากจะนำมาใช้ทดสอบกับมนุษย์ ก็ต้องออกแบบให้มีขนาดเล็กลง อย่างไร ก็ตาม ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าแคปซูลอาจนำมาใช้กับมนุษย์เพื่อหาสัญญาณของแผลอักเสบในโรคลำไส้อักเสบ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ แทนวิธีโคโลโนสโคปี (colonoscopy) คือการส่องกล้องคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และอาจช่วยให้แพทย์ตรวจสอบลำไส้เล็ก หรือศึกษาความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้เล็กในอนาคต.