เมื่อเร็วๆ นี้นักวิจัยจากศูนย์วิจัยธรณีวิทยาจีโอเจเนติกส์ แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ศึกษาพบเป็นครั้งแรกว่ามนุษย์มีการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อที่จะสามารถดำน้ำลึกได้ แต่การดัดแปลงพันธุกรรมนี้ไม่ได้ผ่านมีดหมอหรือใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ทว่าเกิดขึ้นเองภายในร่างกายของมนุษย์ ผ่านการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นในเผ่าพันธุ์เดียวกัน

จากการวิเคราะห์โครงสร้างอวัยวะและสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ของชนเผ่าเร่ร่อนทางทะเลที่ชื่อ ชาวบาจาว (Bajau) พวกเขาอาศัยอยู่ในทะเลแถบประเทศอินโดนีเซีย นักวิจัยเผยว่าชาวบาจาวมีม้ามขนาดใหญ่ผิดปกติ ต่างจากชนพื้นเมืองของอินโดนีเซีย หรือชุมชนทางทะเลอื่นๆ การมีม้ามใหญ่ทำให้ชาวบาจาวสามารถดำน้ำลึกมากกว่า 70 เมตร โดยใช้เวลาใต้น้ำในแต่ละครั้งราว 13 นาที ที่สำคัญมีเพียงหน้ากากที่ทำด้วยไม้เท่านั้น ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอื่นใด นอกจากนี้พวกเขายังใช้เวลา 60% ในแต่ละวันไปกับการดำน้ำหาปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ

นักวิจัยอธิบายว่า ม้ามมีความสำคัญต่อการดำน้ำเพราะจะช่วยปล่อยออกซิเจนเข้าไปในร่างกายมากขึ้นเมื่อต้องอยู่ภายใต้สภาวะกดดันหรือต้องหายใจใต้น้ำเป็นเวลานาน ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับยีนบางชนิดที่เคยพบในหนู นั่นคือยีน PDE10A เป็นตัวควบคุมฮอร์โมนไทรอยด์ที่ควบคุมขนาดของม้ามอีกทีและเชื่อมโยงกับขนาดของม้าม ซึ่งทำให้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าชาวบาจาวอาจมีการพัฒนาขนาดม้ามเพื่อที่จะสามารถดำน้ำได้นานและดำดิ่งได้ลึกกว่าคนปกติ นักวิจัยหวังว่าการค้นพบนี้จะนำไปสู่การวิจัยยาใหม่ๆ พร้อมกับทำให้เข้าใจว่าร่างกายตอบสนองต่อการสูญเสียออกซิเจนในบริบทต่างๆกัน ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำ การปีนเขาสูง ไปจนถึงการผ่าตัดและเมื่อเป็นโรคปอด.