ผ้าอนามัยออแกนิคแบบสอด (organic cotton tampons) หรือแบบถ้วยอนามัย (menstrual cups) ที่มีความยืดหยุ่นเพราะทำจากซิลิโคน อ่อนโยนต่อจุดซ่อนเร้น ใช้ได้นานหลายชั่วโมงแถมยังนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นับเป็นทางเลือกใหม่สำหรับสตรีในช่วงมีประจำเดือน แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เนื่องจากมีผลการวิจัยก่อนหน้านี้เตือนว่าควรจะเปลี่ยนชิ้นส่วนอนามัยบ่อยๆ ไม่ควรทิ้งระยะเวลานาน เพราะอาจเกิดแบคทีเรียที่เป็นอันตรายได้

ล่าสุด นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลดเบอร์นาร์ด เมืองลียงในฝรั่งเศส ได้รายงานในวารสารจุลชีววิทยาสิ่งแวดล้อมประยุกต์ของสหรัฐอเมริกา เผยว่าผลิตภัณฑ์ทางเลือกเหล่านี้อาจไม่ได้ดีไปกว่าแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการป้องกันอาการท็อกซิก ช็อก ซินโดรม (toxic shock syndrome) ที่เกิดจากสารพิษของแบคทีเรีย ซึ่งนักวิจัยได้ทดสอบผ้าอนามัยแบบสอด 11 ชนิดและแบบถ้วยอนามัยอีก 4 ชนิดในห้องปฏิบัติการทดลอง พบว่าปริมาณของอากาศระหว่างเส้นใยในผลิตภัณฑ์ดูเหมือนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตของแบคทีเรียที่ชื่อสแตพฟีโลคอคคัส ออเรอัส (Staphylococcus aureus) ที่เป็นตัวการผลิตสารพิษ toxic shock toxin 1 (TSST-1) ทำให้มีอาการไข้ อาเจียน เกิดผื่นคัน ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ และเกิดการล้มเหลวของอวัยวะในเวลาต่อมา

นักวิจัยเผยว่าช่วงที่มีประจำ เดือน สตรีควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากภาวะช็อกจากสารพิษ แม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นยากแต่ก็เคยมีตัวอย่างของสตรีที่ประสบกับการติดเชื้อแบคทีเรียจนเสียชีวิตไป ที่สำคัญเมื่อมีไข้หนาวสั่นหรือมีผื่นคัน ต้องรีบเอาชิ้นส่วนอนามัยออกจากร่างกายทันที พร้อมกับไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด.