เมื่อไม่นานมานี้ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ แห่งประเทศอังกฤษ ได้ค้นพบชิ้นส่วนของซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล (fossil) โครงกระดูกอิกทิโอซอรัส (ichthyosaurus) สัตว์เลื้อยคลานทางทะเลในวงศ์อิกทิโอซอร์ (ichthyosaur) ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรยุคจูราสสิก แม้ว่าการค้นพบอิกทิโอซอร์จะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสหราชอาณาจักร แต่ฟอสซิลที่พบใหม่นี้กลับแตกต่างและสร้างความประหลาดใจให้กับนักบรรพชีวินวิทยา

จากการตรวจสอบพบว่าซากอิกทิโอซอรัสดังกล่าวพบว่ามีอายุถึง 180 ล้านปี และเป็นซากที่มีครรภ์หรือท้องอยู่ จากการสังเกตเห็นฟอสซิลตัวอ่อนขนาดเล็กประมาณ 6-8 ตัว ติดอยู่ระหว่างซี่โครงของมัน นักบรรพชีวินวิทยาอธิบายว่าอิกทิโอซอรัสนั้นจะออกลูกเป็นตัวแทนที่จะวางไข่ นอกจากนี้มันยังไม่จำเป็นต้องกลับขึ้นไปบนบกแม้จะเป็นช่วงผสมพันธุ์ก็ตาม ส่วนอาหารโปรดปรานก็จะเป็นสัตว์เลื้อยคลาน, ปลา หรือสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ เช่น ปลาหมึกยักษ์

ภัณฑารักษ์ด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งพิพิธภัณฑ์ยอร์กเชียร์ในอังกฤษเผยว่า นี่คือการค้นพบที่ไม่น่าเชื่อ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทันสมัยก็เผยให้เห็นถึงตัวอ่อนแบบแฝดแปด จะช่วยทำให้เข้าใจถึงพฤติกรรมการเลี้ยงดูทารกของอิกทิโอซอรัส ที่เชื่อว่าจะเป็นด้านที่อ่อนโยนของสัตว์ที่ดุร้ายและเป็นนักล่าแห่งห้วงมหาสมุทรในยุคนั้น จนได้ฉายาว่า “มังกรทะเล” โดยซากนี้ยังเป็นตัวอย่างแรกของฟอสซิลอิกทิโอซอร์จากโลกจูราสสิกที่พบในแคว้นยอร์กเชียร์ด้วย.

Credit : (c) Nobumichi Tamura