เมื่อเร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและการให้บริการของระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services-IPBES) ได้วิเคราะห์ว่าการทำเกษตรกรรมที่ไม่ยั่งยืน หรือการทำเหมือง การทำโรงงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นกำลังผลักดันให้โลกของเราพังทลายลง โดยนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์

นั่นเป็นเพราะการเสื่อมโทรมของผืนดินส่งผลกระทบต่อประชากรโลกและพื้นที่หลายส่วนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหาร คุณภาพของน้ำ ที่สำคัญคือเมื่อดินเสื่อมโทรมก็จะทำให้ผู้คนเกิดการอพยพ เพราะไม่สามารถทำประโยชน์จากพื้นดินเหล่านั้นได้ ซึ่งองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เผยว่า 95% ของอาหารที่มนุษย์บริโภคนั้นเป็นผลผลิตที่มาจากพื้นดินทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม นักวิจัยจาก IPBES สรุปว่า ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงในทุกภูมิภาคและเตือนว่าความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ

มีการคาดการณ์ว่าประชากรทั่วโลกมีจำนวนกว่า 9,000 ล้านคนในปี 2593 ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านทรัพยากรที่ดินและแหล่งน้ำอย่างมาก หากมนุษย์ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยแล้ว เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารทั้งปัจจุบันและในอนาคต.