นายจีรเดช ศรีวิราช นายกเทศมนตรีเมืองดอกคำใต้ และประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดพะเยา เชิญ ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย พูด “การปรับตัวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในยุคไทยแลนด์ 4.0” รับใช้นายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล ปลัด เทศบาล และผู้เกี่ยวข้องในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ จ.พะเยา ที่ห้องประชุมสโมสรพนักงานเทศบาลเมืองดอกคำใต้ เวลา 09.00-12.00 น. พฤหัสบดีวันนี้
ย้อนกลับไป พ.ศ.2540 เปิดฟ้าส่องโลกเป็นคอลัมน์แรกที่ทำนายทายทักว่า ต่อไปในอนาคตอีก 50 ปี ประเทศที่จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ เป็นอันดับ 1 ของโลกคือ จีน อันดับ 2 อินเดีย และอันดับ 3 สหรัฐฯ การเขียนอย่างนี้ก็ถูกต่อต้านเยอะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย ยิ่งการออกไปบรรยายในสถานที่ต่างๆ พอพูดประโยคนี้ หลายคนก็เดินออกนอกห้องประชุมอย่างไม่เกรงใจผู้บรรยาย
ไม่ต้องถึง 50 ปี เพียงแค่ 20 ปี ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ประกาศออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า จีนเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก มากถึงร้อยละ 18 ของจีดีพีโลก ส่วนสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจร้อยละ 16 สหภาพยุโรป 28 ประเทศรวมกันแล้ว มีขนาดเศรษฐกิจร้อยละ 15 และอินเดียร้อยละ 7
ขอเรียนนะครับ ว่าอินเดียก็เป็นราชสีห์ที่กำลังตื่น จะมีสักกี่ประเทศในโลกปัจจุบันทุกวันนี้ที่มีอัตราการเติบโตของจีดีพีมากถึงร้อยละ 7 อยู่หลายปีติดต่อกันเหมือนอินเดีย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะอินเดียมีประชากร 1,300 ล้านคน และประชากรมีอายุเฉลี่ย 27 ปี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียเจริญเติบโต นอกจากนั้น ผมว่านโยบาย “ผลิตในอินเดีย” ของนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ก็ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มาตั้งฐานผลิตในอินเดียได้เป็นอย่างมาก ต่อไปในอนาคตอันใกล้ อินเดียจะเป็นเหมือนจีนคือ เป็น 1 ใน 2 ของศูนย์กลางการผลิตสินค้าของโลก
...
ที่ทำให้อินเดียพุ่งกระฉูดจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่นายกฯโมดีปฏิรูประบบภาษีครั้งยิ่งใหญ่ที่ซับซ้อนตั้งแต่การประกาศอิสรภาพ พ.ศ.2480 เป็นต้นมา โดยเปลี่ยนมาใช้ระบบภาษี GST (Goods and Services Tax) หรือภาษีสินค้าและบริการ การเปลี่ยนระบบภาษีเริ่มเมื่อ 1 กรกฎาคมปีที่แล้ว คาดว่าจะทำให้จีดีพีของอินเดียโตขึ้นอีกร้อยละ 2
สมัยก่อนตอนโน้น เมื่อเปิดฟ้าส่องโลกจัดหลักสูตรแนะนำให้คนไทยสนใจอินเดีย ไปลงทุนหรือทำมาค้าขายในอินเดีย และเมื่อนำผู้อบรมสัมมนาไปลงพื้นที่จริงๆ ก็มีปัญหาในเรื่องภาษี เพราะคนทำธุรกิจไม่สามารถที่จะประเมินต้นทุน หรือกำไรจากการขายได้ง่าย การค้าขายระหว่างรัฐในอินเดียเหมือนกับค้าขายระหว่างประเทศ มีทั้งภาษีค้าขายระหว่างรัฐ ภาษีเข้ารัฐ ภาษีผ่านแดน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต แล้วก็ภาษีอะไรอีกมากมายบานเบอะเยอะแยะ มากกว่า 20 ประเภท หน่วยงานภาษีของรัฐบาลกลางก็เก็บ รัฐบาลท้องถิ่นก็เก็บ ตรวจสอบก็ยาก พอตรวจสอบไม่ได้ การขอเครดิตภาษีคืนในแต่ละขั้นการผลิตก็ทำไม่ได้ ท่านลองหลับตาจินตนาการดูเถิดครับเมื่อผู้เก็บภาษีทำงานแยกกัน เราก็ไม่สามารถจะตรวจสอบได้ว่า ผู้ผลิตเสียภาษีวัตถุดิบอย่างถูกต้องหรือไม่
หลังจากงานสัมมนาการค้าการลงทุนอินเดีย หลายท่านก็ยัง ดื้อไปเผชิญโชคในอินเดีย แล้วก็เจ็บตัวไปตามๆกัน ทุกคนโดนกัน หลากหลายรูปแบบ เพราะยังไม่มีระบบที่แน่นอน ไม่มีกฎหมายกลางที่กำหนดภาษีที่ตายตัว จึงต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เกือบ 20 ปีที่แล้ว ยังไม่มีระบบภาษีออนไลน์ ก็ต้องใช้เวลานานมากในการตรวจสอบเอกสาร
การค้าขายในรัฐเดียวกันก็ยังพอทำเนาครับ แต่ถ้าเป็นการค้าขายระหว่างรัฐในอินเดีย ดูเผินๆเหมือนกับว่าต้นทุนถูก แต่โดยแท้ที่จริงมีต้นทุนสูงมาก ทั้งต้นทุนเรื่องเงินและเวลา
การปฏิรูปภาษีของนายกรัฐมนตรีโมดี ทำให้อินเดียหล่อขึ้นมาก
ผู้อ่านท่านอย่าทิ้งอินเดีย
อินเดียไม่เหมือนเดิมแล้วครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com