Credit : ESO/H. Drass/ALMA (ESO/NAOJ/NRAO)/A. Hacar

กลุ่มดาวนายพราน (Orion) เป็นกลุ่มดาวที่มีดาวฤกษ์อาศัยอยู่หลายดวงและช่วยกันเปล่งแสงสว่างสุกใสจนกระทั่งสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ภายในกลุ่มดาวแห่งนี้มีเนบิวลานายพราน (Orion Nebula) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเนบิวลาเปล่งแสงอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,350 ปีแสง และที่ทำให้นักดาราศาสตร์สนใจเนบิวลาแห่งนี้เพราะเป็นแหล่งกำเนิดดาวฤกษ์มวลมาก หรือเรียกว่าแหล่งอนุบาลดาวฤกษ์ (stellar nursery) ที่จะช่วยไขความกระจ่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการของดาวฤกษ์เกิดใหม่ที่มีอายุไม่กี่ล้านปี

นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุช่วงคลื่นเป็นมิลลิเมตรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (Atacama Large Millimeter Array-ALMA) พร้อมกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุ IRAM ขนาด 30 เมตร ตรวจจับภาพภายในเนบิวลานายพราน ภาพปรากฏเป็นแสงสีฟ้า ซึ่งภายในนั้นเต็มไปด้วยกลุ่มดาวฤกษ์สีฟ้า-ขาวที่สว่างเจิดจ้า และมีกระจุกดาวขนาดเล็กที่ชื่อ Trapezium Cluster เกิดเมื่อเพียง 2-3 ล้านปีที่ผ่านมา ตั้งอยู่ในใจกลางของเนบิวลา นายพราน นักดาราศาสตร์อธิบายว่าโครงข่ายคล้ายเส้นใยขาวๆนั้นคือก๊าซเย็น ซึ่งหลังจากก๊าซยุบตัวลงภายใต้แรงโน้มถ่วงของตัวเอง จนเกิดการบีบอัดเพียงพอต่อการสร้างดาวฤกษ์ก่อนเกิด (protostar) ที่จะวิวัฒนาการไปเป็นดาวฤกษ์ต่อไป

กล้อง ALMA ถือเป็นอุปกรณ์เดียวเท่านั้นที่ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาโครงข่ายคล้ายเส้นใยสีขาวภายในเนบิวลานายพราน รวมทั้งตรวจสอบคุณลักษณะก๊าซ diazenylium ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่าย ดังกล่าว การตรวจสอบล่าสุดค้นพบว่ามีโครงข่ายในเนบิวลานายพรานแล้วจำนวน 55 เส้น.