สตรีเมื่อเข้าสู่วัยหมดระดูหรือประจำเดือน ที่มักเรียกว่าวัยทอง ร่างกายมีสัญญาณด้านสุขภาพหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ พฤติกรรม เมื่อเร็วๆนี้นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติเมืองชังบัค ประเทศเกาหลีใต้ ได้รายงานการวิจัยลงในวารสารวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ PLoS ONE ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เผยว่า ความผิดปกติของการนอนหลับเป็นสิ่งที่พบมากที่สุดในสตรีที่เข้าสู่วัยทอง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากสตรี 634 คนที่มีอายุ 44-56 ปี และได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลกังบัค ซัมซุง ในกรุงโซลและเมืองซูวอน ช่วงปี พ.ศ.2555-2556 โดยให้สตรีเหล่านี้ตอบแบบสอบถามวัดคุณภาพการนอนหลับตอนกลางคืน ซึ่งอาการบ่งชี้ว่าคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดีนั้น ได้แก่ ตัวร้อนวูบวาบ เหงื่อออก ตื่นขึ้นหลายครั้งในช่วงกลางคืน และหรือตื่นขึ้นก่อนเวลา พร้อมกับศึกษาปัจจัยอื่นๆควบคู่ เช่น อารมณ์ทางเพศ สภาพทางจิต อายุ ดัชนีมวลกาย โรคเรื้อรัง การสูบบุหรี่ สถานภาพสมรส รายได้ การศึกษา การทำงาน การออกกำลังกาย ความหดหู่ และความเครียดที่เกี่ยวข้องกับวัยหมดระดู นักวิจัยพบว่า 19% ของสตรีเหล่านี้มีคุณภาพการนอนหลับต่ำและมีปัญหาการนอนหลับ เสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง อาจมีคอเลสเทอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูงขึ้นด้วย สตรีที่สูบบุหรี่จะมีสภาพร่วงโรยกว่าคนที่ไม่สูบ ส่วนผู้มีการศึกษาน้อยและมีแนวโน้มเป็นโสดอาจมีภาวะซึมเศร้า มีความเครียดมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเผยว่ายังต้องศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ความผิดปกติทางอารมณ์ ความเจ็บป่วย และการดำเนินชีวิต เนื่องจากการวิจัยอื่นๆก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่าการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทนอาจช่วยทำให้สตรีวัยทองนอนหลับได้ดีขึ้น อาจเป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนควบคุมการนอนหลับนั่นเอง.
...