หลังการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ครั้งที่ 2 ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา เมื่อเร็วๆนี้ ฯพณฯ หลู่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เขียนบทความพิเศษเรื่อง “หลอมรวมความคิด ขยายความร่วมมือ เพื่อประโยชน์แห่งมหาชนแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง” ไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้
การประชุมดังกล่าว ผู้นำ 6 ประเทศสมาชิก คือ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนามและจีน ร่วมกันทบทวนความสำเร็จของความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ประกาศ “แผนปฏิบัติการ 5 ปี ความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (2561-2565)” และ “ปฏิญญาพนมเปญ” ซึ่งชี้ชัดถึงแผนพัฒนาในอีก 10 ข้างหน้า
นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีน ยังได้ให้ข้อเสนอ 5 ประการต่อที่ประชุม ดังนี้ 1) เพิ่มความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ จัดทำ “แผนปฏิบัติการความร่วมมือทรัพยากรน้ำฉบับ 5 ปี” 2) เพิ่มความร่วมมือศักยภาพการผลิต 3) ขยายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร 4) ยกระดับความร่วมมือด้านทรัพยากรมนุษย์ และ 5) ส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขอนามัยและการรักษาพยาบาล โดยจีนยินดีให้ความช่วยเหลือด้านระบบรักษา พยาบาลแก่ประเทศที่มีความต้องการ สร้างหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาลขึ้นมาจำนวนหนึ่ง
และในปี 2561 จีนจะสนับสนุนทุนการศึกษาทั้งหลักสูตรอบรมระยะสั้นและระดับปริญญาแก่ผู้ปฏิบัติงานในสาขาอาชีพรวม 2,000 ทุน ทุนการศึกษาปริญญาตรี 100 ทุน เชิญชวนเจ้าหน้าที่ระดับกลางและสูงมาเรียนรู้ด้านเกษตร การแพทย์ สาธารณสุข และระบบชลประทาน เป็นต้น จีนยังจะดำเนิน “โครงการบรรเทาความยากจนเพื่อประชาชนประเทศลุ่มแม่น้ำ” มีแผนจัดโครงการช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่สมาชิกใน 3 ปีข้างหน้า 100 โครงการ
...
ด้วยแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เป็นเหมือนสายใยธรรมชาติเชื่อมต่อ 6 ประเทศเข้าด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น ดังนั้น เมื่อระบบความร่วมมือถูกกล่าวขึ้นมา ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากแต่ละประเทศ เมื่อปี 2559 การประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือ ครั้งที่ 1 ที่เมืองซานย่า ทำให้ ความร่วมมือเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ และ 2 ปีมานี้ 6 ประเทศสมาชิกได้คิดและทำในสิ่งเดียวกัน เปลี่ยนความปรารถนาเป็นการปฏิบัติจริงทีละก้าวๆ สร้างเป็นรูปแบบ “แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงโมเดล” ยึดวัฒนธรรมเสมอภาค ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพที่เห็นความก้าวหน้าในทุกวัน ยึดโครงการความร่วมมือเป็นสำคัญ...... (ต่อพรุ่งนี้)