(Credit : NASA)

นับเป็นการปฏิวัติโลกแห่งการศึกษาด้านจุลชีววิทยาและการสำรวจอวกาศ เมื่อนักจุลชีววิทยาจากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือองค์การนาซา ชื่อทีมว่า “ยีนส์ อิน สเปซ-ทรี” (Genes in Space–3) เผยถึงผลสำเร็จในความสามารถระบุชนิดของจุลินทรีย์ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนบนสถานีอวกาศนานาชาติไอเอสเอส (ISS) ได้เป็นครั้งแรก โดยที่ไม่ต้องส่งกลับมาวิจัยยังพื้นโลก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 ส่วน เริ่มจากรวบรวมตัวอย่างจุลินทรีย์และใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่พอลีเมอเรส (Polymerase Chain Reaction-PCR) ซึ่งเป็นเทคนิคการสังเคราะห์เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอในหลอดทดลอง เพื่อจะได้เรียงลำดับและระบุชนิดของจุลินทรีย์เหล่านั้น โดยข้อมูลได้ถูกเชื่อมโยงไปถึงทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เมืองฮิวส์ตัน ในสหรัฐอเมริกา ให้ทำการวิเคราะห์และระบุชนิดของจุลินทรีย์ต่อไป พวกเขาเผยว่าการย้ายเซลล์แบคทีเรียลงในหลอดทดสอบขนาดเล็กเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในอวกาศ ซึ่งการระบุชนิดจุลินทรีย์ในอวกาศนี้จะช่วยให้การวินิจฉัยและรักษาโรคของมนุษย์ที่ขึ้นไปอยู่บนอวกาศ รวมทั้งยังสามารถระบุถึงสิ่งมีชีวิตที่มีบนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆได้เช่นกัน

ตามปกติแล้วการส่งยานอวกาศออกไปนอกโลก นักบินอวกาศมักจะพบว่ามีจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียจากโลกเกาะติดยานขึ้นไป แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีการค้นพบแบคทีเรียที่ไม่สามารถระบุชนิดได้ โดยคาดว่าเป็นแบคทีเรียที่มาจากอวกาศ ส่วนสิ่งมีชีวิตเล็กๆจากนอกโลกเหล่านั้นจะเป็นอันตรายต่อโลกและมนุษย์หรือไม่นั้น เป็นสิ่งท้าทายให้นักวิทยาศาสตร์พยายามไขคำตอบต่อไป.