เจ้าภาพชาวฝรั่งเศสพาผู้ใหญ่ชาวไทยไปเรสโตร็อง ร้านอาหารในสาธารณรัฐฝรั่งเศส ผมได้ยินเจ้าภาพแนะนำให้ผู้ใหญ่ทานกานาร์ โอซ็อง ซึ่งเป็นเป็ดอบเลือด แถมยังเล่าว่า พวกนี้นี่เป็นเป็ดหนองน้ำที่ต้องวิ่งอยู่บนดินอุดมสมบูรณ์ที่มีแร่ธาตุสูง อากาศต้องดี เป็ดประเภทนี้เรียกว่า กานาร์ ชัลล็องเด ซึ่งแต่ละตัวจะต้องมีหมายเลขกำกับ สั่งเป็ดตัวไหนทาน ท่านก็จะได้โปสการ์ดที่มีหมายเลขของเป็ดประทับไว้เป็นที่ระลึกด้วย
เจ้าภาพยังพาผู้ใหญ่ไปภัตตาคารที่ขายฟัว กรา ดัว เด ตรัว ซ็องเปอเรอร์ หรือตับห่านบดสามจักรพรรดิ เราแอบเห็นพวกท่านทานฟัว กรา หรือตับบดกันชิ้นเล็กนิดเดียว มีขนมปังคลุมผ้ามาด้วยอีกจาน บางมื้อเจ้าภาพพาผู้ใหญ่ไปทานปลาโต เดอ ฟรุย เดอ แมร์ ซึ่งเป็นพวกกุ้งหอยปูปลาที่ใส่มาจนเต็มถาด
เกษตรกรฝรั่งเศสหลายคนตระเวนไปในป่าที่มีต้นโอ๊ก ต้นนัท ตันแอ็ตร์ ต้นชาร์ม และต้นสน เพื่อหาเห็ดทรุฟฟ์ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ทรัฟเฟิล เจ้าภาพบอกว่า เห็ดทรุฟฟ์มีกลิ่นหอม บางทีมีกลิ่นเหมือนชะมด แต่พอเจ้าภาพพาไปทานจริงๆ ผมไม่เห็นมีจานเห็ดเหมือนเห็ดตับเต่าแบบบ้านเราวางอยู่บนโต๊ะเลยครับ อาจจะเพราะว่ามีราคาแพง เมื่อนำเห็ดทรุฟฟ์ไปปรุงอาหารจึงต้องทำเป็นฝอยๆ โรยลงไปในอาหารเพียงนิดเดียวเท่านั้น
วันนี้ หนึ่งในเมนูที่ฮิตตามร้านอาหารฝรั่งเศส กลับเป็นพวกหนอนรถด่วน ด้วงสาคู แมงกินูน ไข่มดแดง จิ้งหรีด ฯลฯ ใครจะนึกล่ะครับว่าปัจจุบันทุกวันนี้ จะมีคั่วจิ้งหรีดเหยาะพริกไทยกับเกลือ บางร้านก็บริการจิ้งหรีดย่าง เดี๋ยวนี้มีกระทั่งขนมปังหน้าจิ้งหรีด คุกกี้จิ้งหรีด กรอบเค็มจิ้งหรีด และที่กำลังมาแรงก็คือ จิ้งหรีดทอดสมุนไพร
...
ความนิยมชมชอบในอาหารแมลงมีมากถึงขนาดมีการพัฒนาจิ้งหรีดและแมลงอัดกระป๋อง เพื่อส่งไปจำหน่ายตามสถานที่ในทวีปยุโรป
แหล่งวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารบางประเภทในเรสโตร็องอาจจะไม่ใช่ในป่าที่มีต้นโอ๊ก ต้นนัท ตันแอ็ตร์ ต้นชาร์ม และต้นสน แต่อาจจะเป็นป่าไผ่ซาง ไผ่ตง ไผ่สีทอง ไผ่หนาม ฯลฯ ซึ่งมีไผ่ประเภทที่หนอนรถด่วนชอบกิน ใครจะนึกว่า โลกจะหมุนมาทานอาหารที่ทำจากสัตว์ที่คนเคยขยะแขยงแขงขน
สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาสนับสนุนการใช้แมลงเข้าไป เป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารที่รับประทานประจำวัน เช่น เบอร์เกอร์ หรือฟาสต์ฟู้ด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ มากขึ้น และองค์กรโลกหลายแห่งกำลังรณรงค์ให้ประชากรหันมาบริโภคแมลงกันมากขึ้น เพราะแมลงเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนและไขมันชั้นดีที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนั้น ในเชิงเศรษฐกิจ ผู้ทำโรงเรือนเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจในประเทศไทยหลายคนพิสูจน์แล้วว่า แต่ละแห่งทำรายได้กันเป็นจำนวนเลข 6 หลัก
การเกษตรหลายอย่างต้องใช้เวลานานกว่าพืชจะผลิดอกออกผลขายได้ก็ต้องใช้เวลา 5-6 ปี หรือแหล่งอาหารหลักที่ให้โปรตีนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของร่างกายคือ เนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อวัว ซึ่งใช้เวลานานกว่าสัตว์เหล่านั้นจะเจริญเติบโตจนกลายเป็นอาหารของมนุษย์ได้ แต่แมลงเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงโดยที่ไม่ต้องใช้ความรู้ซับซ้อน การลงทุนก็น้อย เลี้ยงง่าย ได้ผลผลิตเร็ว ที่สำคัญคือ ในขณะนี้ตลาดกำลังต้องการสูงมาก เฉพาะขายในประเทศไทยก็ไม่พอ
วันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมอ่านข่าวพบว่า มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีสกัดโปรตีนจิ้งหรีดมาทำเครื่องดื่มเสริมกล้ามเนื้อ จิ้งหรีดเป็นความหวังใหม่ของโลก จากการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มีการสกัดกรดอะมิโนซึ่งเป็นสารตั้งต้นของโปรตีนมาเปรียบเทียบระหว่างเนื้อหมู วัว และไก่ ในปริมาณ 100 กรัม พบว่า เนื้อหมู วัว และไก่มีโปรตีนเพียงร้อยละ 29–31 ในขณะที่จิ้งหรีดมีโปรตีนมากถึงร้อยละ 80
อ่านข่าวจากอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบลราชธานี พบว่าจิ้งหรีดคือ ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับอาหารที่จะมาทดแทนโปรตีน จิ้งหรีดสามารถนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นสารอาหารอื่นๆ เช่น เป็นโปรตีนที่ใช้เฉพาะกลุ่ม อย่างกลุ่มผู้สูงอายุก็ช่วยในระบบภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ดีมาก
การผลิตอาหารของโลกเปลี่ยนไปเยอะนะครับ เกษตรกรไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารของโลกจะต้องติดตามแนวโน้มใหม่นี้ให้ดีครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com