ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกรณียูทูบเบอร์ชื่อดังนามว่า โลแกน พอล ผู้มียอดซับสไครบ์บนเว็บไซต์ยูทูบมากกว่า 15 ล้านคน เผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงภาพศพคนแขวนคอตาย ที่เขากับเพื่อนๆ ไปพบเข้าขณะเที่ยวป่า ‘อาโอกิงาฮาระ’ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรู้กันทั่วว่า ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่คนนิยมมาฆ่าตัวตาย
คลิปวิดีโอของพอลทำให้เกิดกระแสโจมตีอย่างหนัก ทั้งเรื่องการแพร่ภาพศพ หรือการแสดงกิริยาไม่ให้เกียรติผู้ตาย ทำให้เจ้าตัวต้องรีบลบคลิปออก แล้วกล่าวแสดงความขอโทษผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งชาวเน็ตบางคนก็ให้อภัย แต่บางคนก็บอกว่ายังยอมรับไม่ได้ จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าอนาคตของเน็ตไอดอลซึ่งกำลังดังพลุแตกภายในเวลาไม่กี่ปีคนนี้ จะดับวูบเพราะเรื่องนี้หรือไม่
แต่วันนี้ไทยรัฐออนไลน์จะมาพูดถึงป่า อาโอกิงาฮาระ อันมีชื่อมานานว่าเป็น ป่าฆ่าตัวตาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากพยายามหาคำตอบว่า เหตุใดพวกเขาจึงเลือกที่แห่งนี้เป็นสถานที่จบชีวิตตัวเอง
...
*อาโอกิงาฮาระ ป่าแห่งการฆ่าตัวตาย
ป่าอาโอกิงาฮาระ หรือที่คนท้องถิ่นมักเรียกว่า ‘นทีแห่งป่า’ ตั้งอยู่ชายขอบภูเขาไฟฟูจิ ขับรถจากกรุงโตเกียวเพียง 2 ชั่วโมงก็ถึง ที่ทางเข้าป่าแห่งนี้จะมีป้ายเตือนใจผู้ที่มาเยือนให้ตระหนักว่า ‘ชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ’ ที่พวกเขาได้รับมาจากบิดาและมารดา “คิดถึงพ่อแม่, พี่น้อง หรือลูกๆ ของคุณอีกครั้งหนึ่ง โปรดอย่าทุกข์ทรมานอยู่คนเดียว และขอความช่วยเหลือ” หนึ่งในป้ายเตือนระบุ
ชื่อเสียงของป่าอาโอกิงาฮาระ เกิดขึ้นมานานหลายทศวรรษแล้ว เมื่อปี 1960 นักเขียนนิยายชาวญี่ปุ่นชื่อ เซโช มัตสึโมโตะ ก็ให้ตัวเอกในนิยายของตัวเองเรื่อง ‘ทะเลป่าสีดำ’ เดินทางไปฆ่าตัวตายที่ป่าแห่งนี้ หรือในปี 2016 ภาพยนตร์อเมริกันชื่อ ‘The Forest’ ตัวละครหญิงก็เข้าไปตามหาน้องสาวฝาแฝดที่หายตัวไปอย่างลึกลับในอาโอกิงาฮาระ
ขณะที่ตามข้อมูลสถิติที่รัฐบาลท้องถิ่นเปิดเผยออกมา ในช่วงเวลาระหว่างปี 2013-15 มีผู้ที่ไม่ใช่ผู้อาศัยท้องถิ่นใกล้ป่าอาโอกิงาฮาระ เดินทางมาฆ่าตัวตายมากกว่า 100 คน
*ทำไมจึงมาฆ่าตัวตายที่นี่
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างมีสมมติฐานถึงสาเหตุที่ผู้คนจากที่ต่างๆ ตัดสินใจเดินทางมาฆ่าตัวตายในป่าแห่งนี้ โดยเมื่อราว 30 ปีก่อน ดร.โยชิโตโมะ ทาคาฮาชิ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งได้สัมภาษณ์ผู้ที่รอดจากความพยายามปลิดชีวิตตัวเองหลายคน พบว่า ปัจจัยสำคัญคือ พวกเขาเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถตายได้สำเร็จโดยที่ไม่มีใครรู้
นอกจากนี้ ดร.ทาคาฮาชิ ยังชี้ว่า รายงานของสื่อหรือภาพยนตร์ก็มีส่วนให้คนมาที่อาโอกิงาฮาระเช่นกัน เพราะพวกเขาต้องการแบ่งปันสถานที่กับคนอื่นๆ และเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มเดียวกัน
ขณะที่ ดร.คาเรน นากามูระ ศาสตราจารย์วิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งศึกษาเรื่องความพิการ และความเคลื่อนไหวทางสังคมในญี่ปุ่น ได้อ้างถึงผลการศึกษาเมื่อปี 2010 ของ ดร.ชิคาโกะ โอซาวะ-เด-ซิลวา จากมหาวิทยาลัยเอโมรี ที่ระบุว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อสำหรับเหล่าผู้ที่ต้องการหาความเชื่อมโยงทางสังคม และผู้ที่กลัวความโดดเดี่ยว ให้ไปฆ่าตัวตายด้วยกัน
ทำให้ ดร.นากามูระ ได้ข้อสรุปว่า คนจำนวนมากที่ไปฆ่าตัวตายที่ป่าอาโอกิงาฮาระก็เพราะพวกเขาไม่อยากตายอย่างโดดเดี่ยว
*เสียงจากผู้รอดชีวิต
เมื่อปี 2009 สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ของสหรัฐฯ เคยได้สัมภาษณ์นายทาโร่ ไม่เปิดเผยนามสกุล ผู้พยายามจบชีวิตตัวเองที่อาโอกิงาฮาระ ด้วยการกรีดข้อมือ แต่บาดแผลกลับไม่ถึงตาย อย่างไรก็ตาม เขาเกือบเสียชีวิตตามความตั้งใจด้วยอาการขาดน้ำ, ขาดอาหาร และแผลน้ำแข็งกัด ก่อนที่นักเดินป่าจะมาพบ และช่วยเหลือเขาเอาไว้
ทาโร่เล่าว่า หลังจากเขาถูกไล่ออกจากบริษัทผู้ผลิตเหล็กแห่งหนึ่ง จนเสียเสถียรภาพทางการเงิน เขาจึงตัดสินใจซื้อตั๋วเที่ยวเดียวไปยังอาโอกิงาฮาระ “(ตอนนั้น) ความปรารถนาที่จะมีชีวิตของผมหายไป ผมได้สูญเสียตัวตนไป ผมจึงไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ และนั่นเป็นเหตุผลที่ผมไปที่นั่น”
...
*ปัจจัยการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น
ในปี 2015 องค์การอนามัยโลกจัดให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดอันดับที่ 26 ของโลก เมื่อจำแนกตามอายุ โดยเฉลี่ยจะมีประชาชนฆ่าตัวตาย 15.4 ครั้ง ต่อประชากร 100,000 คน แต่เมื่อแบ่งตามเพศจะพบว่า ผู้ชายมีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากกว่าที่ 21.7 ครั้ง ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนผู้หญิงอยู่ที่ 9.2 ครั้ง
ส่วนผลการศึกษาของบริษัท BMC Public Health พบว่า นับตั้งแต่ปี 1985-2010 อัตราการฆ่าตัวตายในหลายประเทศลดลง ยกเว้นในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยอัตราเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำที่ 20% และ 28% ตามลำดับ จากหลายปัจจัย โดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจ, แรงกดดันทางการศึกษา, โรคซึมเศร้า, การทำงานหนักเกินไป, ปัญหาทางการเงิน หรือการตกงาน
...
ดร.นากามูระ กล่าวว่า การฆ่าตัวตายเป็นปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนอย่างยิ่งยวดด้วยหลายปัจจัย รวมทั้งการหดตัวทางเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น การถูกตราหน้าเมื่อเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย ยังเป็นปัจจัยโน้มน้าวให้ชาวญี่ปุ่นมองการฆ่าตัวตายว่าเป็น “การตัดสินใจที่มีเหตุผล” อีกด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย.