ช่วงสัปดาห์นี้ มีข่าวคืบหน้าที่สร้างความฮือฮาให้กับชาวโลก ตามมาเกี่ยวกับ ‘Oumuamua’(อูมัวมัว) วัตถุแรกจากนอกสุริยะ ที่พุ่งผ่านระบบสุริยะจักรวาลของเราอย่างรวดเร็ว จนถือเป็นการพบครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา

เพราะระยะเวลากว่าหนึ่งเดือน คำถามเกี่ยวกับ อูมัวมัว วัตถุแรกนอกสุริยะ ซึ่งมีรูปร่างประหลาด ลักษณะเหมือน ‘ซิการ์’ นี้ ได้เปลี่ยนไปถึงขนาดก่อให้เกิดคำถาม ที่เหล่านักวิทย์ชั้นนำของโลก กำลังไขคำตอบกันอยู่ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่แท่งหินประหลาด เคลื่อนที่เร็วมากนี้ อาจจะเป็น ยานแม่ของมนุษย์ต่างดาว!!

* เพราะอะไร ทีมนักวิทย์ นำโดย ศ.สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง จึงเชื่อว่าอาจเป็นยานของเอเลี่ยน?

เหตุการณ์น่าตื่นตะลึงนี้ เกิดขึ้นเมื่อทีมนักดาราศาสตร์ที่ฮาวายได้ค้นพบวัตถุแรกที่มาจากนอกสุริยะนี้ ขณะเคลื่อนผ่านโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560  โดยกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ซึ่งนักดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ในสหรัฐฯ ใช้ค้นหาดูดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตรายต่อโลก

...

จากนั้นจึงได้ประกาศการค้นพบวัตถุนอกสุริยะครั้งแรกนี้ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา จนถือเป็นการค้นพบวัตถุที่มาจากระบบสุริยะอื่นเป็นครั้งแรกเลยทีเดียว

ที่สำคัญ วัตถุนี้หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า Interstellar Object วัตถุระหว่างดวงดาวที่ไม่ได้มีวงโคจรขึ้นตรงกับแรงโน้มถ่วงของระบบดาวฤกษ์ดวงใดดวงหนึ่ง  ยังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วถึง 196,000 ไมล์ต่อชั่วโมง จึงทำให้รอดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของดวงอาทิตย์ โดยทีมนักดาราศาสตร์ที่ฮาวาย ได้ตั้งชื่อวัตถุนี้ว่า ‘อูมัวมัว’ ซึ่งเป็นภาษา ฮาวาย หมายถึง ‘หน่วยสอดแนม กองหน้าในการรบ’ หรือผู้ส่งสาร

อย่างไรก็ตาม หลังการค้นพบ อูมัวมัวผ่านมาเกือบ 2 เดือน โครงการ Breakthrough Listen ของ Seti (The Search for ExtarTerrestrial Intelligence) นำโดย ศาสตราจารย์ สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง ปรมาจารย์ด้านฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาชื่อดังที่สุดแห่งยุค กำลังพยายามที่จะหาคำตอบว่า วัตถุประหลาดจากนอกสุริยะนี้ อาจจะเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว หรือจะเป็นแค่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเท่านั้น

*อูมัวมัว มีลักษณะแปลกมาก - เหมือนกับรูปร่างของยานระหว่างดวงดาวที่นักออกแบบคิดกันไว้

ศ.ฮอว์กกิ้งและทีมนักวิทยาศาสตร์ที่โครงการ Breakthrough Listenออกแถลงการณ์ถึงสาเหตุที่ทำให้นักวิจัยตั้งข้อสงสัยว่าอูมัวมัว อาจเป็นยานอวกาศที่ถูกส่งมาโดยเอเลี่ยนนั้น เนื่องจากรูปร่างลักษณะที่คล้ายกับ ซิการ์ หรือเข็มนี้ เป็นรูปร่างของยานอวกาศระหว่างดวงดาวที่นักออกแบบได้คิดกันก่อนหน้านี้ว่ายานอวกาศระหว่างดวงดาวควรจะมีรูปร่างแบบนี้  ขณะเดียวกัน รูปลักษณะของอูมัวมัว ต้องถือว่าแปลกแตกต่างอย่างมากไปจากเทหวัตถุนอกโลกที่เคยเห็นมา

กล้องโทรทรรศน์วิทยุ  ‘กรีน แบงก์ ที่เวสต์ เวอร์จิเนีย ในสหรัฐฯ
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ ‘กรีน แบงก์ ที่เวสต์ เวอร์จิเนีย ในสหรัฐฯ

*เริ่มใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ กรีนแบงก์ดักจับคลื่นสัญญาณวิทยุแล้ว

...

ด้วยความอยากพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์โครงการ Breakthrough Listen เริ่มตามล่าหาความจริง ด้วยการปรับจานกล้องโทรทรรศน์อันทรงประสิทธิภาพ ‘กรีน แบงก์ เรดิโอ เทเลสโคป’(Green Bank radio Telescope) ซึ่งตั้งอยู่ที่เวสต์ เวอร์จิเนีย ในสหรัฐฯ ไปยังทิศทางของวัตุประหลาดจากนอกสุริยะ ‘อูมัวมัว’ แล้ว

โดยตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม 60 จานขนาดยักษ์ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงก์ จะเริ่ม ‘ฟัง’ คลื่นสัญญาณวิทยุที่อาจถูกปล่อยออกมาจาก อูมัวมัว โดยเฟสแรกคาดว่าจะดักจับสัญญาณคลื่นวิทยุ เป็นเวลา 10 ชั่วโมง

ศ.อาวี โล๊บ ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในสหรัฐฯ กล่าวด้วยความตื่นเต้นว่า ด้วยความที่วัตถุปริศนานี้แปลกประหลาดมาก พวกเราจึงขอตรวจสอบว่ามีสัญญาณของต้นกำเนิดเทียม หรือต้นกำเนิดจากสิ่งประดิษฐ์ อย่างเช่น สัญญาณวิทยุ ซึ่งถ้าเราตรวจจับสัญญาณที่ปรากฏว่ามาจากต้นกำเนิดเทียมแล้วจะสามารถรู้ทันที

*อยากรู้จริงๆ วัตถุชิ้นแรกจากนอกระบบสุริยะคืออะไร?

...


นอกจากนั้น ขณะที่นักดาราศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่า อูมัวมัว คือ ดาวเคราะห์น้อยระหว่างดวงดาว แต่ด้วยรูปร่างลักษณะ คล้ายกับซิการ์ แท่งหินมีความยาวถึง 400 เมตร แต่มีความกว้างเพียง 40 เมตร หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของความยาว ถือยังมีลักษณะของเทหวัตถุที่นักดาราศาสตร์ไม่เคยพบมาก่อน โดยศ.โล๊บ กล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่น่าอยากรู้อยากเห็น เพราะนี่คือ วัตถุชิ้นแรกที่เราเห็นจากนอกระบบสุริยะของเรามีลักษณะเช่นนี้

‘โอกาสที่เราจะได้ยินบางสิ่งบางอย่างนั้นน้อยมาก แต่ถ้าพวกเราทำได้ เราจะรายงานโดยทันทีและแปลสัญญาณคลื่นวิทยุที่ดักจับได้ ’ศ.โล๊บกล่าว  'ถ้าพวกเราพบสัญญาณของสิ่งประดิษฐ์ที่หลงเหลืออยู่บนวัตถุประหลาดนี้ และไม่มีสัญญาณของสิ่งมีชีวิตอยู่ มันจะเป็นความตื่นเต้นมากที่สุดของผมในชีวิตนี้ มันคือหนึ่งในคำถามพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสุดคือ ‘พวกเราอยู่ตามลำพังหรือไม่ ?’

เรียกว่า อีกไม่นานเกินรอ ชาวโลกคงจะได้รู้คำตอบกัน ว่า ‘อูมัวมัว’ วัตถุประหลาด ลักษณะคล้ายซิการ์ ที่ถือเป็นวัตถุแรกนอกระบบสุริยะที่ผ่านโลกของเรา คืออะไรกันแน่...