ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมตาม ร.ต.อ.ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ซึ่งได้รับชวนจาก ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รอง ผอ.องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.ลงพื้นที่ อ.นาแห้วและ อ.ด่านซ้าย จ.เลย กับคณะของนายเชวัง โชเฟล ดอร์จิ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตภูฏานประจำไทยและคณะ
ผู้ที่ต้อนรับและนำคณะดูงานของทั้งสองอำเภอก็คือนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.เลยและคณะข้าราชการจังหวัดเลย
การเดินทางครั้งนี้ ผมตกผลึกในหลายเรื่อง เรื่องแรกก็คือ ภูมิหลังของผู้ว่าฯ นายชัยวัฒน์ซึ่งมีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พวกเราเห็นผู้ว่าฯ พูดจาสนทนากับคนเลยเป็นภาษาเลยและรู้เรื่องของเลยทุกตรอกซอกมุม เห็นสายตาของคนเลยตอนที่ฟังผู้ว่าฯ พูดภาษาเดียวกับพวกตน รู้เลยว่าผู้คนสนใจมาก ภูมิใจมาก ผมจึงคิดว่าต่อไปในอนาคต คนที่จะมาบริหารและทำงานให้กับผู้คน ควรจะมีภูมิหลังเดียวกับประชาชน
เรื่องที่สอง คนไทยภูมิใจว่าเรามีนักท่องเที่ยวเมื่อปีที่แล้วมากถึง 32 ล้าน นำเม็ดเงินเข้าประเทศมากถึง 2.5 ล้านล้านบาท แต่คำถามก็คือ นักท่องเที่ยวและเม็ดเงินจำนวนนี้ยั่งยืนขนาดไหน หากวันใดสถานการณ์โลกไม่ดี คนหยุดท่องเที่ยว ประเทศอย่างเราที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาการท่องเที่ยวมากจะทำอย่างไร
ไทยมีหน่วยงานที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับการท่องเที่ยวอยู่หลายหน่วย ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ภูฏานฉลาดมากครับ ที่เลือกไปสร้างความสัมพันธ์กับ อพท. เพราะภูฏานเป็นประเทศเล็ก ประชากรน้อย ใกล้และแวดล้อมไปด้วยจีน อินเดีย และบังกลาเทศที่มีประชากรเป็นร้อยล้านพันล้าน
...
ภูฏานมีพื้นที่แค่ 38,394 ตร.กม. มีประชากรไม่ถึงล้านคน หากไม่คิดเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คิดจะเอาแต่เม็ดเงินและจำนวนนักท่องเที่ยว ปล่อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเสรี ทรัพยากรการท่องเที่ยวของภูฏานคงจะช้ำภายในเวลาหนึ่งปี หากไม่นึกถึงเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภูฏานเละแน่ แม้แต่ไทยเองก็เถอะครับ วันใดวันหนึ่งเศรษฐกิจโลกไม่ดี มีสถานการณ์การก่อการร้าย สงคราม หรือภัยพิบัติ ฯลฯ คนหยุดท่องเที่ยว ประชากรไทยหลายสิบล้านคนที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวจะทำอย่างไรครับ
หลายประเทศพูดถึงจำนวนเงินที่มาจากการท่องเที่ยว แต่ผมอยากจะถามว่า เงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการท่องเที่ยวไปไหน อยู่กับสายการบิน บริษัทท่องเที่ยวข้ามชาติ โรงแรมเครือต่างชาติ หรือภัตตาคารของเศรษฐีต่างถิ่น คนท้องถิ่นจะได้อะไร ชุมชนมีส่วนร่วมได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน หรือเมื่อนักท่องเที่ยวไปแล้ว เราต้องมาฟื้นฟูสภาพทรัพยากรที่เสียไปอย่างไร การดูแลสุขภาพอนามัยของผู้คนอาจจะมากกว่าเงินที่ได้จากการท่องเที่ยวก็ได้ นี่ล่ะครับ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ท่านทูตภูฏานสนใจ
การท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียวนะครับ แต่เป็นเรื่องความภาคภูมิใจ เรื่องของการพัฒนาโดยชุมชนซึ่งต้องเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งชุมชนต้องเป็นผู้บริหารจัดการ ชุมชนต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางการท่องเที่ยวของตนเอง ว่าจะรับนักท่องเที่ยวจำนวนเท่าใด จะมีการกระจายรายได้กันอย่างไร
เพื่อป้องกันความเสี่ยง ชุมชนควรจะมีรายได้ประจำจากทางด้านอื่น เช่น จากการเกษตร การประมง ส่วนการท่องเที่ยวควรเป็นแค่รายได้เสริม ถ้าไปส่งเสริมให้ทุกคนทิ้งนา ทิ้งไร่ ทิ้งประมง และหันมาทำการท่องเที่ยวเพียงแค่มิติเดียว หากสถานการณ์โลกหรือของประเทศไม่ดี ผู้คนหยุดท่องเที่ยว ชุมชนนั้นก็ไปไม่รอดนะครับ เพราะโดยแท้ที่จริง การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่เปราะบางมาก ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภายนอกแทบทั้งหมด แค่เจอเรื่องการก่อการร้าย เรื่องภัยพิบัติ ชุมชนนั้นก็ไปไม่รอดอีกเหมือนกันนะครับ
ตอนนี้องค์กรโลกสนใจเรื่องเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก Global Sustainable Tourism Criteria ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ซึ่งมีทั้งหมด 4 หมวด ซึ่งไทยประสบความสำเร็จและภูฏานอยากจะแชร์ประสบการณ์จากประเทศไทย
เรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยังมีอีกมากครับ เปิดฟ้าส่องโลกจะนำมารับใช้เป็นระยะๆ วันนี้ขออนุญาตลาไปก่อนครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com