เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2555 พายุเฮอริเคนแซนดี้ได้เข้าโจมตีรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรง เหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนั้นกลายบทเรียนสำคัญให้ชาวนิวยอร์กพยายามหาหนทางจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงปารีสซึ่งเป็นการร่วมมือของนานาชาติในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

นิวยอร์กยังเดินหน้าให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเปิดมาตรการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ ที่จะริเริ่มบังคับใช้กับอาคารทั่วเมืองเพื่อผลักดันให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยแผนการร้องขอให้เจ้าของอาคาร 14,500 แห่ง ที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 2,300 ตารางเมตร ที่มีการติดตั้งหม้อไอน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่นบนหลังคาและหน้าต่าง ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีตามขอบเขตของขนาดอาคาร เช่น ตึกไครส์เลอร์ที่มีพื้นที่เกือบ 158,000 ตารางเมตร อาจต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีประมาณ 66 ล้านบาทหากมีการใช้พลังงานเกินกว่าเป้าหมาย

มีรายงานระบุว่า การใช้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ผ่านหม้อไอน้ำและเครื่องทำน้ำอุ่น อันเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 42% เลยทีเดียว ทั้งนี้ มาตรการใหม่ที่จะนำมาบังคับใช้ คาดว่าจะลดการปล่อยมลพิษโดยรวมได้ถึง 7% ภายในปี พ.ศ.2578 รวมทั้งสร้างงานใหม่ให้กับชาวอเมริกันได้ถึง 17,000 ตำแหน่ง.