เมื่อสัปดาห์ก่อน สถานการณ์ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศเมียนมา ขยับออกห่างจากคำว่าสันติสุขยิ่งขึ้นอีก เมื่อเกิดเหตุความรุนแรงระลอกใหม่ขึ้น กลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิม ‘โรฮีนจา’ บุกโจมตีด่านตรวจและค่ายทหารหลายแห่ง สังหารเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไปหลายสิบนาย คล้ายกับการโจมตีเมื่อปีก่อนซึ่งทำให้เกิดการปราบปรามชาวโรฮีนจาอย่างรุนแรงจนโลกประณามว่าเมียนมากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง
เหตุการณ์ล่าสุดนี้ก็เช่นกัน รัฐบาลเมียนมาซึ่งนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ของนาง อองซาน ซูจี ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาลโดยพฤตินัย ได้ตอบโต้กลุ่มติดอาวุธด้วยความรุนแรงทำให้เกิดการปะทะกันตามมาหลายครั้งจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแล้ว
ในวันนี้ไทยรัฐออนไลน์จะสรุปให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เหตุความรุนแรงล่าสุดในรัฐยะไข่เกิดอะไรขึ้นบ้าง ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มหันมาจับตามองสถานการณ์ในเมียนมาอีกครั้ง เพื่อดูว่า รัฐบาลของนางซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี พ.ศ. 2535 ซึ่งล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องโรฮีนจามาตลอด จะสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของพวกเขาในฐานะสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้หรือไม่
...
ความรุนแรงระลอกใหม่ในยะไข่เกิดขึ้นเมื่อไร?
เหตุความรุนแรงระลอกใหม่ในรัฐยะไข่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. กลุ่มหัวรุนแรงมีมีดและระเบิดประดิษฐ์เองเป็นอาวุธบุกโจมตีด่านตรวจและค่ายทหารหลายสิบแห่ง จนทำให้มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิตไปกว่า 30 นาย ก่อนจะเกิดการปะทะต่อสู้กันอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตล่าสุดร่วมกว่า 110 ราย
ด้านองค์กรเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานสากล (ไอโอเอ็ม) ออกแถลงการณ์เปิดเผยว่า ผลจากความรุนแรงครั้งนี้ทำให้ชาวโรฮีนจา รวมทั้งชาวพุทธต้องอพยพหลบหนี โดยจนถึงตอนนี้มีชาวโรฮีนจากว่า 18,500 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก อพยพข้ามชายแดนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ
บังกลาเทศมีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาที่อพยพมาจากความไม่สงบครั้งก่อน อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และมีรายงานหลายกระแสระบุว่า บังกลาเทศเริ่มกักตัวชาวโรฮีนจาอยู่บริเวณชายแดน ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศแล้ว จนทำให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องออกมาเรียกร้องให้บังกลาเทศเปิดทางให้ชาวมุสลิมไร้รัฐเหล่านี้ได้เข้าไปหาที่ปลอดภัยพักพิงตามเติม
ขณะเดียวกัน กองทัพปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งอาระกัน หรือกลุ่มอาร์ซา (Arakan Rohingya Salvation Army - ARSA) ออกมาอ้างตัวว่าพวกเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีด่านตรวจและค่ายทหารครั้งนี้ แล้วพวกเขาเป็นใคร?
กลุ่มอาร์ซาเป็นใคร
กองทัพปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งอาระกัน มีชื่อเดิมว่า ‘ฮาราคาห์ อัล-ยาคิน’ (กลุ่มเคลื่อนไหวแห่งศรัทธา) ปรากฏตัวขึ้นมาครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2559 ก่อเหตุโจมตีลักษณะคล้ายกันนี้กับด่านตรวจของตำรวจ สังหารเจ้าหน้าที่ไป 9 นาย กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุความไม่สงบครั้งใหม่ในรัฐยะไข่
ฝ่ายรัฐบาลประกาศว่าให้กลุ่มอาร์ซาเป็นกลุ่มก่อการร้าย โดยมีแกนนำเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนทักษะการสู้รบจากต่างประเทศ และหัวหน้าใหญ่คือนาย อาตา อุลเลาะห์ ชาวโรฮีนจาผู้เกิดในประเทศปากีสถาน และเติบโตขึ้นในซาอุดีอาระเบีย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาร์ซาอ้างว่า เป้าหมายของพวกเขาคือการปกป้องชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮีนจาจากการกดขี่ของรัฐบาลเมียนมา และยืนยันด้วยว่า พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มญิฮาด สมาชิกของกลุ่มเป็นเพียงชายหนุ่มชาวโรฮีนจาผู้โกรธแค้นรัฐบาลตั้งแต่เหตุความรุนแรงเมื่อปี 2555 เท่านั้น
ความทุกข์ของชาวโรฮีนจา
จะบอกว่าชาวโรฮีนจานั้นถือเป็นหนึ่งในเผ่าพันธ์ุที่น่าสงสารที่สุดบนโลกใบนี้ก็ไม่ผิดนัก พวกเขาถูกรัฐบาลเมียนมาประกาศว่าเป็นผู้อพยพเข้าประเทศจากบังกลาเทศอย่างผิดกฎหมาย และปฏิเสธไม่ให้สัญชาติ ขณะที่บังกลาเทศก็ไม่ยอมรับพวกเขาเป็นพลเมือง ทำให้ชาวโรฮีนจามีสถานะเป็นคนไร้รัฐ แม้ว่าพวกเขาหลายคนจะอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่มานานหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม
...
ชาวโรฮีนจาจำนวนมากอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวหลายแห่ง หลังจากถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านของตัวเองในเหตุความรุนแรงปี 2555 รัฐยะไข่ยังถือเป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของเมียนมา ทั้งการเดินทางและการหางาน ชาวโรฮีนจาล้วนทำได้อย่างจำกัดทั้งสิ้น
ความทุกข์ชาวโรฮีนจายังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในช่วงเหตุความรุนแรงเมื่อเดือนตุลาคมปี 2559 ชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้กล่าวหากองทัพรัฐบาลเมียนมาว่า ข่มขืน, สังหาร, ทารุณกรรม และเผาหมู่บ้านของพวกเขา ระหว่างที่ทหารออกปฏิบัติการปราบปรามกลุ่มติดอาวุธ ฮาราคาห์ อัล-ยาคิน ซึ่งตามรายงานของ ไอโอเอ็ม และ ยูเอ็น มีชาวโรฮีนจามากกว่า 100,000 คนที่ต้องอพยพเข้าสู่บังกลาเทศ
ซูจีทำอะไรอยู่?
การเข้ามากุมอำนาจในรัฐบาลของนาง อองซาน ซูจี เมื่อปี 2559 ถูกมองเป็นแสงแห่งความหวังว่าเมียนมากำลังจะหลุดพ้นจากการปกครองระบบเผด็จการทหารและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน การมาของเธออาจจะช่วยแก้ปัญหาของชาวโรฮีนจาซึ่งยืดเยื้อมานานหลายปีได้เสียที
...
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ หลังจากนางซูจีเข้ามาแทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับชาวโรฮีนจา เธอยังล้มเหลวในการใช้อำนาจที่เธอมีรับมือเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น และไม่สามารถปกป้องชาวโรฮีนจาจากความเข่นฆ่าจนทำให้มีผู้ต้องอพยพมากมายสร้างความผิดหวังให้แก่ประชาคมโลกอย่างมาก และในเหตุความไม่สงบครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน จนหลายฝ่ายมองว่า เธอทอดทิ้งชาวโรฮีนจาแล้ว หรือกระทั่งเธอไม่ได้เป็นผู้นำฝักใฝ่เสรีอย่างที่สร้างภาพเอาไว้
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความคาดหวังต่างๆ นานา ในตัวของนางซูจี ทำให้หลายคนลืมมองไปว่า ปัญหาชาวโรฮีนจาหยั่งรากลึกมานาน ไม่อาจแก้ไขได้ในวันเดียว และนี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เธอต้องรับมือด้วย โดยนาย โฮเซ มานูเอล รามอส-ฮอร์ตา อดีตประธานาธิบดีแห่งติมอร์เลสเต เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2539 ระบุว่า นางซูจีรับสืบทอดสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างไม่ธรรมดามาจากรัฐบาลก่อน
“เธอต้องเผชิญกับกองทัพ ซึ่งยังคงมีอำนาจล้นเหลือ เธอรับสืบทอดสังคมที่เปราะบางพร้อมกับกลุ่มติดอาวุธมากกว่า 18 กลุ่ม นี่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการทหารสู่ประชาธิปไตยที่ยากลำบากมาก” นายฮอร์ตากล่าว