กระป๋องแล้วกระป๋องเล่าบนสายพานที่ถูกเติมเบียร์ ปิดฝา จุ่มล้าง แพ็กห่อ 6 กระป๋อง และบรรจุลงกล่องเรียบร้อยทันเวลา 1,500กป. ต่อ 1 นาทีเป๊ะ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นฝีมือของเครื่องจักร ที่ทำทุกสิ่งอย่างภายในโรงงานของ บริษัท อาซาฮี บริวเวอรี่ ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น

พนักงานมีหน้าที่แค่เช็กความเรียบร้อยว่า เครื่องจักรทำงานเป็นปกติหรือเปล่า? คุณภาพของระบบเซ็นเซอร์เสื่อมหรือยัง? ซึ่ง มร.ชินอิชิ อูโนะ ผู้จัดการ รง. บอกว่า แม้เครื่องจักรจะทำหมดทุกอย่าง ยังไงก็ต้องมีคนคอยควบคุมอยู่ดี ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องเครื่องจักรที่เข้าไปแย่งงานมนุษย์ ทั้งที่อัตราการเกิดประเทศนี้ “ห่อเหี่ยว” มานาน หลายสิบปี จนเริ่มกลัวว่าต่อไปจะไม่มีแรงงานคนป้อนตลาด

ทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มลุยใช้หุ่นยนต์มาตั้งแต่ยุค’90 จนกลายเป็นผู้นำโลกที่ใช้งานหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อคนงาน 10,000 คนมากถึง...1,562 ตัว!!! เทียบกับอเมริกา 1,091 ตัว และในเยอรมนี 1,133ตัว ไม่เท่านั้น สายการผลิตทั่วๆไปใช้หุ่นยนต์ 219 ตัวต่อแรงงาน 10,000 คน เทียบกับอเมริกา 76 ตัว และเยอรมนี 147 ตัว

ดูๆไปก็น่าจะกลืนกินตำแหน่งงานของ คนอย่างเบ็ดเสร็จ แต่จากข้อมูล องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ตั้งแต่ พ.ศ.2545-2558 กลายเป็นว่า การจ้างงานในญี่ปุ่นแทบไม่เปลี่ยนเลย!!!

มร.โคอิชิ อิวาโมโต นักวิจัยระดับ อาวุโส ประจำสถาบันศึกษาค้นคว้าด้านเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น แจงว่า บริษัทใหญ่ๆหลายแห่งยังไม่คิดใช้หุ่นยนต์แทนคนอย่างเห็นได้ชัดเท่าอเมริกา เช่น ตำแหน่งเสมียน และถึงศักยภาพของ พนักงานจะถดถอยไปบ้าง นายจ้างก็ให้ย้ายไปทำงานส่วนอื่น

ขนาด มร.คิโยชิ ซากาอิ พนักงานที่อยู่ กับอาซาฮีมานาน 29 ปี ก็ไม่ได้รู้สึกว่าหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรทำให้ตัวเองไม่มีงานทำ แต่มองว่ามาช่วยให้ตัวเองทำงานเบาลง ไม่ต้องออกแรงเยอะเหมือนสมัยก่อน

...

ลักษณะแรงต้านการปรับระบบบริการ ไปสู่ระบบเทคโนโลยีดิจิตอลนี้ยังสะท้อนถึงวิถีสังคมชาวญ่ีปุ่น ที่ยังคงนิยมโบกรถแท็กซี่ทั่วไป แทนที่จะย้ายเข้าสู่โหมดออนไลน์เปิดแอพฯเรียกใช้บริการรถโดยสาร

เป็นสังคมที่หลอมรวมความเป็นมนุษย์กับเครื่องจักรกลให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนนั่นเอง...

ฤทัยรัช จันทร์เพ็ญ