ไม่มีใครแก่เกินเรียน ยิ่งเป็นยุคนี้แล้วยิ่งต้องอัพเดตตัวเอง พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง อย่าใช้คำว่า “แก่แล้ว” เป็นข้ออ้าง เพราะผลการวิจัยล่าสุดของสถาบันเทคโนโลยีอันดับหนึ่งโลก MIT เกี่ยวกับกระบวนการคิดของมนุษย์ ที่ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างหลายพันคน อายุตั้งแต่ 10-90 ปี บ่งชี้ว่า สมองคนเราสามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องเร่งพัฒนาเฉพาะช่วง 2 ขวบแรก แถมอายุมากขึ้นสมองก็ยิ่งพัฒนาไปสู่ลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เรียกว่ายิ่งแก่ยิ่งฉลาด ถ้ารู้จักลับคมสมองอย่างถูกวิธี แทนที่จะปล่อยให้สมองฝ่อไปตามวัย

ผลการศึกษาของ MIT พบว่า ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย สมองเราจะพัฒนาได้ดีที่สุดในเรื่องความจำและการจดจำรายละเอียดต่างๆ ขณะที่การจดจำชื่อใหม่ๆ คำศัพท์แปลกๆจะพัฒนาได้ดีที่สุดตอนอายุ 20 ต้นๆ กระนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กๆมักจำหน้าคนไม่เก่ง เพราะทักษะนี้พัฒนาได้ดีที่สุดตอนอายุขึ้นเลขสามไปแล้ว

เด็กสมัยนี้มักถูกพ่อแม่จับไปหาหมอเพราะสมาธิสั้น จะโทษเด็ก ก็คงไม่ถูก เอาจริงๆแล้วความสามารถในการสร้างสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ จะพัฒนาได้ดีที่สุดตอนอายุขึ้นเลขสี่โน่นเลย เช่นเดียวกับการพัฒนาด้านอารมณ์ เราจะทำได้ดีที่สุดก็ช่วง 40 ตอนปลาย กำลังจะขึ้นเลขห้า ส่วนพวกที่ปรี๊ดไม่เลิกทั้งๆที่เลยวัยทองมานานแล้ว ก็น่าจะแปลว่า สมองด้านอารมณ์ไม่พัฒนาไปถึงไหน

ใครที่ไม่เก่งเลข ลองมาเรียนวิชาคำนวณใหม่ตอนอายุ 50 รับรองว่าบวกลบคูณหารได้คล่องจนน่าตกใจ เพราะวัยนี้เป็นวัยทองของการพัฒนาสมองด้านการคำนวณ อายุเลขห้ายังเป็นวัยของการเรียนรู้และเข้าใจข้อมูลใหม่ๆ ใครที่เคยฝันอยากทำอะไร ก็เริ่มลงมือทำซะตอนอายุ 50 แล้วคุณจะแปลกใจว่าทำไมเรียนรู้ได้เร็วจัง และถึงจะเลยวัยเกษียณก็ยังพัฒนาสมองได้อยู่นะ ผลการศึกษาของ MIT บ่งชี้ว่า คนวัยปลาย 60 ถึงต้น 70 มีความสามารถพิเศษในการจดจำและเรียนรู้คำศัพท์ เรียกว่าเล่น Scrabble ตอนแก่ชนะชัวร์

...

โลกตะวันออกก็ศึกษาจริงจังเรื่องการพัฒนาของสมองมนุษย์ น่าสนใจคือแนวคิดของ “นพ.โทชิโนริ คะโตะ” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองของญี่ปุ่น ผู้เป็นต้นแบบทฤษฎีการถอดรหัสสมอง คุณหมอใช้เครื่อง MRI ตรวจดูภาพสมองตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์ จนถึงอายุ 100 ปี พบว่า ช่วงอายุ 20-49 ปี สมองจะพัฒนาเฉพาะด้านได้มากที่สุด ซึ่งก็หมายความว่าถ้าถอดรหัสสมองเป็น และรู้จักวิธีลับคมสมองอย่างถูกทาง สมองก็จะมีความแข็งแกร่งและยืดหยุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

การพัฒนาสมองตามแนวคิดของคุณหมอ จะพัฒนาให้สอดคล้องกับรหัสสมองที่แตกต่างกัน โดยเริ่มจาก “การฝึกรหัสสมองด้านความคิด” ด้วยการแข่งเกมให้แพ้ หลักการนี้อาจขัดกับความเชื่อทั่วไป ที่มักมุ่งมั่นอยากเอาชนะเวลาเล่นเกม แต่คุณหมอมองว่า การพยายามเล่นเกมให้แพ้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรับรู้และเข้าใจสถานการณ์จากมุมมองที่แตกต่างออกไป การเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆจะช่วยให้สมองด้านความคิดพัฒนาขอบเขตกว้างขึ้นเรื่อยๆ

“ฝึกฝนรหัสสมองด้านอารมณ์” ด้วยการงดสิ่งที่ชอบให้ได้ 10 วัน เพื่อสร้างเงื่อนไขควบคุมอารมณ์แห่งความสุขที่เคยได้มาง่ายๆ ขณะเดียวกัน การพัฒนาทักษะด้านความเข้าใจก็สำคัญ “ฝึกฝนรหัสสมองด้านความเข้าใจ” ด้วยการอ่านหนังสือที่ปกติจะไม่อ่าน ลองเข้าไปในร้านหนังสือ แล้วเปิดอ่านแบบผ่านๆเพื่อทดสอบความเข้าใจ อีกหนึ่งทักษะที่พัฒนากันได้คือ “ฝึกฝนรหัสสมองด้านการเคลื่อนไหว” ด้วยการทำอาหารไป ร้องเพลงไป เพื่อเพิ่มโจทย์ความซับซ้อนในการสั่งการของสมอง คุณหมอยังแนะนำให้ “ฝึกฝนรหัสสมองด้านการได้ยิน” ด้วยการฟังวิทยุก่อนนอน ขณะนอนหลับรหัสสมองด้านอื่นๆจะทำงานลดน้อยลง และประสาทสัมผัสทั้งหมดจะไปรวมกันอยู่ที่การได้ยิน สุดท้ายลอง “ฝึกฝนรหัสสมองด้านการจดจำ” ออกท่องเที่ยวแบบไม่พึ่งไกด์บุ๊ก แล้วจะอะเมซซิ่งว่าเราจำทางเก่งกว่าที่คิดเยอะเลย.

มิสแซฟไฟร์