ชุมชนในทวีปเอเชียที่มีประชากรประมาณ 4 พันล้านคน กำลังจะเผชิญกับความร้อนและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง ธนาคารพัฒนาเอเชียระบุว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและมีความรุนแรง จะทำให้ขาดความมั่นคงด้านอาหารในทศวรรษต่อๆไป หากยังไม่มีความพยายามที่เข้มงวดจริงจังในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

มีการคาดการณ์ว่า อุณหภูมิในช่วงฤดูร้อนของเอเชียอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 6 องศาเซลเซียส ภายในปี พ.ศ.2643 ส่วนระดับน้ำทะเลทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มประมาณ 2.3 เมตร เมื่อธารน้ำแข็งละลายลง สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสลมเจ็ต สตรีม (jet stream) ซึ่งเป็นลมที่มีความเร็วสูงถึง 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อให้เกิดฝนตกชุกและน้ำท่วมใหญ่เป็นประวัติการณ์ ซึ่งประเทศในแถบเอเชียทางตอนใต้อาจได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในเอเชีย โดยก่อนหน้านี้เริ่มมีสัญญาณภัยพิบัติในหลายพื้นที่ เช่น อุทกภัยในปากีสถานในปี พ.ศ.2553 คร่าชีวิตประชากรไปถึง 3,000 คน ในขณะพื้นที่บางแห่งกลับประสบกับภาวะแห้งแล้ง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจะส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล เกิดปัญหาการทำประมงและเกิดภาวะกรดในมหาสมุทร

และสิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคอหิวาต์ โรคไข้เลือดออก โรคมาลาเรีย ฯลฯ และเมื่อประชากรต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ พวกเขาก็จะอพยพซึ่งอาจทำให้เกิดการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค.