เหยื่อ2พัน ถูกฉ้อโกง แห่แจ้งจับ

แห่แจ้งความจับประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อ หรือกุ้งเครฟิช ชักชวนชาวบ้านให้ลงทุน 1.5 หมื่น บาท ซื้อลูกกุ้งเครฟิชไปเลี้ยง สัญญาจะรับซื้อกลับทั้งหมดกิโลกรัมละ 400-700 บาท แต่พอลงทุนเลี้ยงจริงรับซื้อเพียง ครั้งสองครั้งก็เบี้ยว บางคนสมัครเป็นตัวแทนระดับอำเภอและระดับจังหวัด เพื่อหาสมาชิกใหม่ ต้องเสียเงินถึงคนละ 3-5 หมื่นบาท เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ อ้างมีเหยื่อถูกหลอกทั่วประเทศถึง 2,000 คน ความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท

กลุ่มเหยื่อโร่แจ้งความถูกหลอกให้ลงทุนเลี้ยงกุ้งเครฟิชรายนี้ เปิดเผยขึ้นที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 8 มิ.ย. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมด้วยนางวิจิตรา จงทัน รองนายกสมาคมพืชไร่เพชรบูรณ์ พาผู้เสียหายที่ถูกหลอกให้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง หรือกุ้งเครฟิชกว่า 10 ราย เข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีผู้ที่อ้างตัวเป็นประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อ หรือกุ้งเครฟิช ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยนำเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมามอบให้พนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาดำเนินคดี

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กับสมาคมฯว่าถูกประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ หลอกลวงชักชวนให้ร่วมลงทุนเลี้ยงกุ้งพันธุ์ดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง เช่น กลุ่มเครฟิชไทยแลนด์ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 อ้างว่าจะรับซื้อคืนทั้งหมดเมื่อกุ้งโตแล้วในราคากิโลกรัมละ 400-700 บาท แต่ผู้สนใจต้องเสียเงินค่าสมัครขั้นต่ำ 15,000 บาท จะได้รับพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไปเลี้ยง นอกจากนี้ยังเปิดรับสมัครผู้ที่ต้องการเป็นหัวหน้าสายระดับอำเภอ ต้องเสียเงินค่าสมัคร 30,000 บาท หรือหัวหน้าสายระดับจังหวัดต้องเสียค่าสมัคร 50,000 บาท นอกจากนี้ ถ้าสามารถชักชวนผู้อื่นให้สมัครเข้าร่วมเลี้ยงกุ้งด้วยจะได้รับผลตอบแทน 10% จากเงินค่าสมัครสมาชิกรายใหม่ เช่น ผู้สมัครสมาชิกจ่ายเงินขั้นต่ำ 15,000 บาท หัวหน้าสายจะได้รับเงินทันที 1,500 บาท ส่วนเงินที่เหลือต้องนำส่งให้สหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ

...

“ที่ผ่านมามีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมาก เพราะประธานสหพันธ์กุ้งก้ามแดงเนื้อฯ จะสร้างความน่าเชื่อถือด้วยวิธีการหลากหลาย เช่น นำนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งพันธุ์นี้มาบรรยายให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ รวมทั้งถ่ายภาพเผยแพร่ขณะรับซื้อกุ้งดังกล่าว แต่หลังจากใช้เวลาเลี้ยงกุ้งกว่า 4-6 เดือน จนกุ้งโตขนาด 4-6 นิ้ว จะรับซื้อคืนจริงเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น ภายหลังนั้นไม่ได้รับซื้อคืนอีก กุ้งที่รับซื้อคืนไปจะถูกนำไปใช้หลอกลวงผู้เสียหายรายอื่นต่อไป นอกจากนี้ ยังตรวจสอบพบว่าสหพันธ์แห่งนี้ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจกับกระทรวงพาณิชย์ ทั้งหมดจึงเป็นการแอบอ้างเพื่อหลอกลวง ขณะนี้พบว่ามีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 2,000 รายทั่วประเทศ รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท” นายศรีสุวรรณกล่าว

หลังรับแจ้งเบื้องต้นปรากฏว่ามีผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงมาจากหลายจังหวัดเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ พนักงานสอบสวนจึงแยกผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์และสอบปากคำเบื้องต้นในกองกำกับที่รับผิดชอบทั้ง กก.2 บก.ป.กก.3 บก.ป. และ กก.5 บก.ป. หลังจากนี้จะนำสำนวนการสอบสวนเบื้องต้นทั้งหมดเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าจะรับคดีไว้ดำเนินการเอง หรือส่งต่อให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องรับดำเนินการต่อไป