สรุปสถิติสงกรานต์ 7 วัน อุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 390 ราย “นครราชสีมา” ยอดตายมากสุด 17 ราย เมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุหลัก ศปถ.ชี้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 11.76 กำชับ จว.วิเคราะห์หาสาเหตุ ทบทวนมาตรการเสนอรัฐบาล...

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ 17 เม.ย. 60 ที่กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองประธานกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน แถลงสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2560 ว่าสถิติอุบัติเหตุทางถนนของวันที่ 17 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์และเกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 323 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 7 วัน (11-17 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,690 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 390 ราย แยกเป็น เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ 198 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 171 ราย ระหว่างนำส่งโรงพยาบาล 21 ราย สาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ขับรถเร็ว เมาแล้วขับ และทัศนวิสัยไม่ดี ประเภทรถที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ รถเก๋ง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 161 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 17 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 168 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นราธิวาส แม่ฮ่องสอน และสมุทรสงคราม จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ 1 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ

สำหรับการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุในช่วงวันที่ 11-17 เม.ย. พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 84.91 รถปิกอัพ ร้อยละ 6.83 อย่างไรก็ตาม มีผู้บาดเจ็บระหว่างวันที่ 11–17 เม.ย. เสียชีวิต 36 ราย

...

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า แม้จำนวนครั้งในการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.76 ซึ่งจำนวนครั้งที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้รถใช้ถนนในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลง โดยเฉพาะอัตราการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุลดลงเหลือร้อยละ 50 จากปีที่ผ่านมาร้อยละ 53 แสดงให้เห็นว่าดัชนีความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลง อีกทั้ง อุบัติเหตุจากรถกระบะยังลดลงเหลือร้อยละ 6.83 จากปีที่ผ่าน ร้อยละ 8.85 โดยมีปัจจัยสำคัญจากความร่วมมือของผู้ใช้รถใช้ถนนในการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้อุปกรณ์นิรภัยและการห้ามบรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะเกิน 6 คน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรการพิเศษตามคำสั่ง คสช. อีกทั้ง การกวดขันวินัยจราจรอย่างจริงจังของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของอุบัติเหตุยังคงเกิดจากการเมาแล้วขับและขับรถเร็ว โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยความคึกคะนอง และรถที่บรรทุกคนโดยสารท้ายกระบะ

ทั้งนี้ ศปถ.ได้กำชับให้จังหวัดนำสถิติไปวิเคราะห์หาสาเหตุ ถอดบทเรียน และค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ รวมถึงวางแนวทางการสร้างความปลอดภัยทางถนน ในระยะยาวอย่างยั่งยืน ทั้งช่วงปกติและเทศกาลสำคัญ ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน และลดปัจจัยเสี่ยงที่ครอบคลุมทั้งด้านคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ด้าน นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สาเหตุจากการเมาแล้วขับลดลงจากปีที่ผ่านมากว่าร้อยละ 10 ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการรณรงค์สงกรานต์ปลอดแอลกอฮอล์ และการส่งเสริมการจัดกิจกรรม “1 อำเภอ 1 กิจกรรม” รวมถึงการดำเนินมาตรการ “เมาแล้วขับจับยึดรถ” ตามคำสั่ง คสช. ทั้งนี้ ปภ.ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้ร่วมกับจังหวัดถอดบทเรียนและทบทวนมาตรการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจะได้นำมาตรการสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนครั้งนี้ เสนอให้รัฐบาลกำหนดเป็นกรอบแนวทางและนโยบายในการยกระดับการสร้างความปลอดภัยทางถนน และแม้ว่าจะยังไม่สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้เป็นศูนย์ แต่ผลการดำเนินงานในครั้งนี้ถือเป็นก้าวหนึ่งของความสำเร็จที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในการสร้างความปลอดภัยทางถนนในระยะยาวอย่างยั่งยืน

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงภาพรวม 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่าขณะนี้ข้อมูลเข้ามาแล้ว พบว่ายอดผู้เสียชีวิตน้อยลงกว่าปี 2559 แต่ยอดอุบัติเหตุสูงขึ้น จึงต้องวิเคราะห์ในรายละเอียดว่ามาตรการใดทำให้เปลี่ยนแปลง หรือว่ามีสิ่งใดต้องนำไปแก้ไข ต้องไปวิเคราะห์กันหลังจากนี้ เพราะต้องดูรายละเอียดมาก แม้กระทั่งตัวเลขอายุ พื้นที่การเสียชีวิต เป็นต้น ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะสรุปสาเหตุทั้งหมด แต่ดูสถิติพอจะบอกได้ว่า คนเสียชีวิตมากในปีนี้คือการใช้ความเร็วสูง โดยเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 200 กว่าราย แต่ต้องไปดูว่าเสียชีวิตในถนนหลักหรือถนนรองอีกทีหนึ่ง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะนำไปวิเคราะห์ที่ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ซึ่งได้บูรณาการหน่วยงานทุกกระทรวงไว้ที่นั่น เพื่อดูว่าสิ่งที่ทำไปได้ผลในเรื่องใดบ้างและมีมาตรการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข