ตำรวจไซเบอร์ รับ "56 ไทยเทา" จากปอยเปต กลับมาดำเนินคดีตามกฎหมาย พบร่วมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สร้างความเสียหายให้เพื่อนร่วมชาติกว่า 700 ล้าน
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 1 เม.ย. 68 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงปฏิบัติการ "ล่า คอล ข้ามแดน" กวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รับตัวคนไทย 56 คน จากเมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา มาดำเนินคดีในไทย พบเชื่อมโยงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 1,154 คดี สร้างความเสียหายให้เพื่อนร่วมชาติแล้วกว่า 709 ล้านบาท
พล.ต.อ.ธัชชัย กล่าวว่า จากการกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของตำรวจกัมพูชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จับกุมคนไทย 119 คน ส่งตัวกลับไทยมาดำเนินคดีข้อหาอาชญากรรมข้ามชาติจากเมืองปอยเปต ต่อมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทางกัมพูชา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา ได้สั่งการให้ตำรวจกัมพูชาจากส่วนกลางเข้ากวาดล้างตรวจค้นพื้นที่ 2 จุด ในเมืองปอยเปต โดยจุดสำคัญคือตึก RMG 12 ชั้น ของบริษัท สามัคคีเมียนเจย แขวงโอวโจรว เมืองปอยเปตฯ (ตรงข้ามตลาดโรงเกลือฯ)
ซึ่งเป็นแหล่งที่ตั้งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์คนไทยที่ทำหน้าที่ในการหาคนไทยมาเปิดบัญชีม้าและบัญชีคริปโต และการสแกนหน้าเพื่อหลอกลวงคนไทย รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกลุ่มคนไทยขายชาติหลอกลวงคนไทยด้วยกัน การกวาดล้างดังกล่าวสามารถจับกุมคนไทยได้ทั้งหมด 63 คน แยกเป็นชาย 41 คน หญิง 22 คน ตรวจยึดคอมพิวเตอร์จำนวน 33 เครื่อง โทรศัพท์มือถือจำนวน 65 เครื่อง บัตรประชาชนไทย จำนวน 65 ใบ และหนังสือเดินทางไทย จำนวน 2 เล่ม โดยทางตำรวจกัมพูชาได้นำคนไทย 7 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 1 คน ซึ่งคาดว่าเป็นระดับสั่งการไปขยายผลดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้อง และส่งคนไทยจำนวน 56 คน กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย
...

จากการตรวจสอบของทางตำรวจไทย พบว่าคนไทยทั้งหมด 56 คน เป็นชาย 35 คน หญิง 21 คน เป็นเด็กอายุ 3 ปี จำนวน 1 คน , เด็กอายุ 8 ปี จำนวน 1 คน มีหมายจับจำนวน 5 คน เกี่ยวข้องกับ case ID 1,154 คดี มูลค่าความเสียหาย 709,495,881 บาท และในการเข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อ ไม่พบว่าบุคคลเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์แต่อย่างใด ผู้ที่ถูกส่งตัวกลับมาเดินทางข้ามช่องธรรมชาติโดยผิดกฎหมาย จำนวน 53 คน ไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศผ่านช่องตรวจคนเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย และทุกคนไม่มีร่องรอยการถูกทำร้ายตามร่างกาย
พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวต่อว่า ผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีพฤติการณ์ในลักษณะคล้ายกันคือ เริ่มต้นจากการถูกชักชวนผ่านสื่อโซเชียลให้ไปทำงาน จากนั้นได้ถูกพาไปเปิดบัญชีธนาคารโดยรับค่าจ้างประมาณ 3-5 พันบาทต่อบัญชี และเดินทางข้ามชายแดนผ่านช่องทางธรรมชาติไปฝั่งปอยเปต พักคอยเพื่อรอสแกนหน้าในการโอนเงินให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ จากการสอบถามหนึ่งในผู้ต้องหาให้การว่า ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าวได้มีการรวบรวมม้ารับจ้างเปิดบัญชี โดยจะมีรถมารับถึงที่บ้านไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด แล้วนำพาข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย ก่อนจะให้ไปอยู่รวมกันที่ตึกทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ที่เมืองปอยเปต สถานที่ดังกล่าวมีการจัดแบ่งพื้นที่พักอาศัย แยกตามเพศชายและหญิง ภายในบ้านมีการจัดเตรียมฟูกสำหรับการพักอาศัย รวมถึงมีการจัดหาอาหารให้ โดยผู้รับจ้างจะต้องเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์และบัญชีทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อใช้ในการถ่ายเททรัพย์สินของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับทั้งหมดจำนวน 54 คน ตามคำร้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อหา “ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนและร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” โดยขณะนี้ได้ถูกควบคุมตัวตามกระบวนการทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว