"ทวี" รมว.ยุติธรรม แจงกรณีเยียวยา "บอสแซม-บอสมิน" ผู้ต้องหาคดีดิไอคอนฯ หลังอัยการสั่งไม่ฟ้อง ชี้อยู่ระหว่างทาง ขอให้รอคดีถึงที่สุด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 ม.ค. 68 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดโรงเรียนช่างสิบหมู่ เรือนจำพิเศษธนบุรี เพื่อดำเนินการตามแผนและนโยบายส่งเสริมให้ช่างสิบหมู่มีมาตรฐานในระดับสากล และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้รับการพัฒนาพฤตินิสัยที่มีความหลากหลายและคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรมของไทย

ต่อมา พ.ต.อ.ทวี เผยถึงกรณีที่พนักงานอัยการคดีพิเศษมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง นายยุรนันท์ ภมรมนตรี หรือ บอสแซม และ น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี หรือ บอสมิน ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ต่อมาเกิดกระแสวิจารณ์ว่ากระบวนการยุติธรรมจะรับผิดชอบชีวิตของทั้งสองคนอย่างไร ที่ต้องถูกคุมขังไว้ก่อนในเรือนจำฯ ว่า เราต้องยึดหลักนิติธรรม ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด เราถือว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ นี่คือหลักสากล และในกระบวนการยุติธรรม เราไม่ได้บูรณาการ เราต้องมีอิสระในการใช้ดุลพินิจ ถ้าบูรณาการโดยตรงเกินไป มันจะเป็นการฮั้วกัน แล้วทำให้เป็นปัญหาต่อกระบวนการได้

ฉะนั้น พนักงานจึงมีอิสระในการสั่งคดี ซึ่งในกรณีของพนักงานสอบสวนสั่งฟ้อง แต่ในส่วนพนักงานอัยการอาจจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ บางทีพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง แต่อัยการอาจสั่งฟ้อง เราก็มีการถ่วงดุลของพนักงานอัยการ คือ ถ้าหากอัยการไม่สั่งฟ้อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะต้องพิจารณาดูว่าจะมีความเห็นแย้งอย่างไรหรือไม่ โดยถ้าหากอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เห็นแย้งกับคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ก็จะต้องทำหนังสือขอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด แต่ถ้าคดีถึงที่สุดเมื่อใด ในทางกฎหมายจึงจะถือว่าเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นเหยื่อ หรือเป็นแพะ หรือจำเลยที่ศาลยกฟ้อง ซึ่งในขณะนี้กระทรวงยุติธรรม ได้ก้าวหน้าในเรื่องสิทธิไปมากกว่านั้น โดยได้เสนอกฎหมายเข้าสู่สภา แม้แต่ในชั้นอัยการ หากมีการสั่งไม่ฟ้อง แต่คดีไปถึงเด็ดขาดแล้ว เราก็จะเยียวยาให้กับผู้เสียหายหรือจำเลยที่ไม่ได้รับการประกันตัวชั่วคราว สิ่งนี้เป็นการพัฒนาของกระบวนการยุติธรรม

...

ขณะนี้อาจจะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะมันยังอยู่ระหว่างทาง จึงขอให้ดูให้สุด ในชั้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูหลายราย อย่างไรก็ตาม หากท้ายสุดแล้วอัยการสูงสุดชี้ขาดไม่ฟ้อง เขาก็อาจมีสิทธิได้รับการชดเชยเยียวยา แต่ในตอนนี้ตนไม่ทราบได้ว่าอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะเห็นแย้งหรือไม่อย่างไร แต่ในเรื่องของความยุติธรรมอย่าเอากระแสมากดดัน อยากให้พิจารณาตามข้อเท็จจริงและหลักฐาน เรื่องนี้ตนอยากเรียนสังคมให้ทราบว่ามันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบเยอะ เป็นคดีที่น่าสนใจ เราก็อยากให้พนักงานสอบสวนทำตามพยานหลักฐาน ทำตามความรู้ความสามารถจริง ๆ หากทางอัยการได้มีหนังสือคำสั่งไม่ฟ้องในคดีส่งมาถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ จากนั้นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษก็จะได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูพยานหลักฐานที่อัยการไม่ฟ้อง จะแย้งหรือไม่ ถ้าแย้งก็ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งอัยการสูงสุดเป็นอิสระจากอัยการที่สั่งฟ้องอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าขณะนี้มีคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าหากในช่วงทำคดี พนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา อาจทำให้ศาลได้พิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวได้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ถือเป็นประโยชน์ที่ศาลจะได้พิจารณา แต่ศาลไม่ได้ดูเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว บางส่วนที่คัดค้านประกัน ศาลก็ให้ประกัน บางส่วนไม่ได้คัดค้านเลย ศาลก็ไม่ให้ประกัน ศาลจะดูในส่วนของการยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือไม่ จะหลบหนีหรือไม่ อัตราโทษอย่างไร ซึ่งไม่ได้มีเงื่อนไขว่าคัดค้านหรือไม่คัดค้าน ไม่ได้อยู่ในข้อกฎหมาย กฎหมายให้ดูหลายอย่างประกอบกัน ส่วนแต่ละคนจะมีความเห็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง