รอง ผบ.ตร.ฝ่ายกฎหมาย รอผลชันสูตรศพ "แบงค์ เลสเตอร์" ก่อนพิจารณาว่าบุคคลใดเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย เทียบเคียงคดี "ลาลาเบล" ที่มีพฤติกรรมคล้ายกัน
วันที่ 26 ธ.ค. 67 พล.ต.อ.นิรันดร เหลื่อมศรี รอง ผบ.ตร. (ฝ่ายกฎหมาย) กล่าวถึงคดีการเสียชีวิตของ "แบงค์ เลสเตอร์" อินฟลูเอนเซอร์สู้ชีวิตที่เสียชีวิตกะทันหัน ที่คาดสาเหตุเกิดจากการดื่มสุราในปริมาณมากแลกกับเงิน 3 หมื่นบาท จนร่างกายช็อกและเสียชีวิตว่า สามารถเอาผิดกับผู้จ้างดื่มได้หรือไม่ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น คดีดังกล่าวจะต้องเริ่มจากการทำสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายอาญาก่อน เพื่อให้ทราบสาเหตุแห่งการตายว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติหรือตามธรรมชาติ ซึ่งจะต้องมีการตรวจพิสูจน์โดยแพทย์นิติเวช ซึ่งขณะนี้ร่างอยู่ระหว่างการผ่าพิสูจน์ส่วนผลจะเป็นอย่างไรยังไม่ทราบรายละเอียด
พล.ต.อ.นิรันดร กล่าวว่า หากแพทย์นิติเวชสรุปผลว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติ มีผู้ทำให้ถึงแก่ความตาย ก็ถือว่าความผิดทางอาญาเกิดขึ้น จึงต้องทำสำนวนขึ้นมาอีกสำนวน โดยเอาสำนวนชันสูตรศพมาประกอบคดีอาญา เพื่อที่จะสืบสวนสอบสวนว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการตายและใครกระทำความผิด ขณะนี้เชื่อว่าในทางสืบสวนตำรวจพื้นที่ต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานไว้แล้ว แต่ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าการตายเกิดจากสาเหตุใด เพราะคืนวันเกิดเหตุมีการจัดปาร์ตี้ร่วมดื่ม และมีการเชียร์ให้ดื่มสุรามากกว่าปกติ ซึ่งตามปกติร่างกายแต่ละคนรับได้ไม่เท่ากัน ในการดื่มแอลกอฮอล์ และแต่ละคนอาจมีโรคประจำตัวที่แต่ละคนไม่รู้มาก่อน อาจจะสัมพันธ์กับการดื่มสุราและไปการกระตุ้นให้เกิดการเสียชีวิตได้ ต้องรอแพทย์ทำการชันสูตรเพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง
ส่วนการจะชี้ว่าใครกระทำผิดหรือไม่ต้องมีหลักฐานหลายอย่าง ยังไม่สามารถฟันธงได้ในเวลานี้เนื่องจากมีรายละเอียดจำนวนมาก ซึ่งคดีนี้อาจจะเทียบเคียงคดีในอดีตเช่น คดี “ลาลาเบล” ที่อาจจะมีพฤติการณ์ใกล้เคียงกัน คือมีการชักชวนให้ดื่มสุราในงานปาร์ตี้เช่นเดียวกัน จึงต้องดูพฤติการณ์ในการสืบสวนสอบสวนว่ามีบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง โดยย้ำต้องทราบสาเหตุการเสียชีวิตก่อนอย่าเพิ่งกล่าวหาบุคคลใด เพราะเป็นการชี้นำสังคม ถึงแม้สังคมจะเชื่อแล้วก็ตามว่ามีการว่าจ้างแล้วชี้ว่าบุคคลนั้นต้องผิดหรือต้องถูก ยืนยันว่าตำรวจทำงานไม่ล่าช้า
...
ส่วนที่สื่อมวลชนระบุว่า มีการว่าจ้างกัน 3 หมื่นบาทให้ดื่มจนเสียชีวิต รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดอื่นๆ เช่น เป็นเรื่องของการสมัครใจหรือไม่ หรือมีการบังคับขู่เข็ญหรือไม่ จึงไม่สามารถฟันธงข้อกฎหมายได้ต้องมีการสืบสวนสอบสวน รวบรวมหลักฐานถึงสภาพแวดล้อมทั้งหมด