พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เผยจัดโผนายพลใหญ่ ได้รับคำชื่นชมไม่มีซื้อขายตำแหน่ง แจงยิบ “นายพลเล็ก” การแต่งตั้ง รอง ผบช. 41 ตำแหน่ง-ผบก. 75 ตำแหน่ง เตือนผู้มีอำนาจแต่งตั้งทุกระดับ ต้องเป็นไปตามที่กฎหมาย และกฎ ก.ตร. กำหนดทุกประการ ฝ่าฝืนโทษวินัย-อาญา

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ โพสต์ข้อความเพจส่วนตัวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.ตร.ได้เป็นประธานฯ ประชุมก.ตร. มีมติให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร. และผบช. การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์การแต่งตั้งและแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)

เมื่อปรากฏผลการประชุม ก.ตร. ได้รับคำชื่นชมจากพี่น้องตำรวจและสื่อมวลชนที่เฝ้าจับตาดูการแต่งตั้งอย่างใกล้ชิดว่า จะมีการแทรกแซงจากการเมือง มีตั๋วต่างๆ มีข่าวการซื้อขายตำแหน่งหรือไม่ ซึ่งสื่อมวลชนได้ลงข่าวว่า ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง

พล.ต.อ.เอก ระบุว่า การแต่งตั้งที่จะดำเนินการต่อไป เป็นการแต่งตั้งระดับ รอง ผบช. 41 ตำแหน่ง ระดับ ผบก. 75 ตำแหน่ง ตร. มีหนังสือลงวันที่ 28 พ.ย. แจ้งให้หน่วยต่างๆ เรื่องการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยให้จัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ฯลฯ ส่งตร. ภายในวันที่ 6 ธ.ค. หลักเกณฑ์การพิจารณา ให้พิจารณาจากผู้มีความรู้ความสามารถ เรียงตามลำดับอาวุโสจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนตำแหน่งว่าง จำนวนตำแหน่งว่างที่เหลือ ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน การพิจารณาความสามารถรู้ความสามารถ ให้คำนึงถึงประวัติรับราชการ ผลการปฏิบัติงาน ความประพฤติ และผลการประเมินความพึงพอใจที่ประชาชนหรือผู้รับบริการได้รับจากการให้บริการของข้าราชการตำรวจ

...

ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ ระบุว่า ประวัติรับราชการ ให้พิจารณาจากประสบการณ์และความชำนาญงานโดยเฉพาะ ประสบการณ์และความชำนาญในสายงานที่จะได้รับการแต่งตั้ง โดยพิจารณาตั้งแต่เริ่มรับราชการในระดับชั้นสัญญาบัตร ผลการปฏิบัติงาน ให้พิจารณาผลงานในหน้าที่รับผิดชอบที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการทำงาน การติดตามงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ความรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืองานอื่นที่ได้รับมอบหมายเป็นพิเศษ รวมถึงการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยให้นำผลงานดีเด่นตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดในการพิจารณาความประพฤติ ให้คำนึงถึงการรักษาวินัย การประพฤติตนตามประมวลกฎหมายจริยธรรมข้าราชการตำรวจ จรรยาบรรณของข้าราชการตำรวจ รวมถึงภาวะความเป็นผู้นำ ความสามารถในการปกครองบังคับบัญชา การทำงานร่วมกับผู้อื่นในหมู่คณะ มนุษยสัมพันธ์ในการทำงานที่สามารถร่วมกับผู้อื่นได้มาประกอบการพิจารณาด้วยการพิจารณาคัดเลือกให้ผู้มีอำนาจพิจารณาคัดเลือกหรือแต่งตั้งเรียงลำดับอาวุโส โดยคำนึงถึงผู้ที่ได้รับการพิจารณา จะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งที่จะแต่งตั้งเป็นสำคัญ

พล.ต.อ.เอก ระบุ ขั้นตอนดำเนินการ 1. ผบก. จัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นและบัญชีผู้ที่ยังไม่เหมาะสมฯ (ถ้ามี) ของข้าราชการตำรวจระดับ รอง. ผบก. เรียงลำดับผู้เหมาะสมมากที่สุดลงไปจนถึงน้อยที่สุดส่งไปยัง บช.

2. ผบช. จัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสม เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นและบัญชีผู้ที่ยังไม่เหมาะสมฯ (ถ้ามี) ระดับ รอง ผบก. เลื่อนเป็น ผบก. และระดับผบก. เลื่อนเป็น รอง ผบช. โดยพิจารณาเป็นรูปคณะกรรมการฯ เรียงลำดับผู้เหมาะสมมากที่สุดลงไปจนถึงน้อยที่สุดส่งไปยัง ตร.

3. ผบ.ตร. จัดทำบัญชีผู้อยู่ในเกณฑ์ที่สมควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น เรียงตามลำดับอาวุโส และข้อมูลของ ผบก. และผบช. ประกอบการพิจารณา เสนอไปยังคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร. เป็นประธาน จตร. รอง ผบ.ตร. และผู้แทน กพ. เป็นกรรมการ) พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติและความเหมาะสม โดยกฎหมายกำหนดให้ ผบ.ตร. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจคัดเลือกหรือแต่งตั้งจะต้องพิจารณาจากรายชื่อข้าราชการตำรวจ ที่คณะกรรมการพิจารณาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจมีมติเสนอแนะก่อนเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

4. ก.ตร. มีหน้าที่และอำนาจ พิจารณาให้ความเห็นชอบ หากตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด ให้แจ้ง ผบ.ตร. เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง

5. ก.ตร. มีมติเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป

พล.ต.อ. เอก ระบุว่า ผู้บังคับบัญชาทุกระดับจะต้องจัดทำบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น บัญชีผู้อยู่ในเกณฑ์ที่สมควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น และการพิจารณาต้องเป็นไปตามที่กฎหมายและกฎ ก.ตร. กำหนดทุกประการ มิฉะนั้นแล้วหาก ก.พ.ค.ตร. หรือศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยหรือพิจารณาว่าการเรียงลำดับอาวุโสหรือในการแต่งตั้ง ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัย และให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจพิจารณาลงโทษผู้นั้นตามควรแก่กรณี ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก ก.พ.ค.ตร. หรือศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องทำการสอบสวนอีก แล้วรายงานให้ ก.ตร. ทราบ ในกรณีที่ ก.ตร. มีมติเห็นว่าการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการจงใจหรือช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด ให้ถือว่าผู้บังคับบัญชาผู้นั้นกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจดำเนินการลงโทษผู้นั้นโดยไม่ต้องดำเนินการสอบสวน

ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใดหรือเรียก รับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่งใด ไม่ว่าการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งนั้นจะชอบด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 หรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

...

พล.ต.อ. เอก ระบุอีกว่า ผมมั่นใจว่า ก.ตร. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งระดับรอง ผบช. และ ผบก. ตามกฎหมาย กฎ ก.ตร. และคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. เช่นเดียวกับการพิจารณาการแต่งตั้งระดับ ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ ผบช. ตามที่ได้พิจารณามาแล้วโดยเคร่งครัดต่อไป