บช.น. สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี "ผกก.- สว.สอบสวน บางซื่อ" ปมรับแจ้งความ "ทนายตั้ม" อ้างเจ๊อ้อยถูกโกงเงิน 39 ล้าน


เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 24 พ.ย. 2567 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ลงนามคำสั่ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล 364/2567 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ด้วยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 ปรากฏข้อความในสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ชื่อเพจบิ๊กเกรียน" ข้อความ "ผกก.สน.บางซื่อ เชื่อมโยงโกงเงินพี่อ้อย 39 ล้านบาท ควรตอบให้กระจ่าง"

ผบช.น. ได้มีบันทึกสั่งการมอบหมาย พล.ต.ต.พัลลภ แอร่มหล้า รอง ผบช.น. ดูแลงานจเรตำรวจเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า พฤติการณ์การกระทำของข้าราชการตำรวจดังต่อไปนี้ มีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย พ.ต.อ.ภูวดล อุ่นโพธิ ผกก.สน.บางซื่อ พ.ต.ท.สุพัฒน์ หนูแก้ว สว.(สอบสวน) สน.บางซื่อ กรณีเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 เวลาประมาณ 12.33 น. น.ส.สารินี นุจนารถ แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ ให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจนถึงที่สุด คดีมี พ.ต.ท.สุพัฒน์ รับแจ้งไว้เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป 

การแจ้งความครั้งนี้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด (นายตั้ม) ได้โทรศัพท์ประสานมายัง พ.ต.อ.ภูวดล หัวหน้าสถานีตำรวจ ให้ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ น.ส.สารินี โดย พ.ต.อ.ภูวดล กับนายษิทรา รู้จักกันมาประมาณ 5 ปีก่อนเกิดเหตุ ทุกครั้งที่นายษิทรา หรือคนของนายษิทรา จะมาแจ้งความที่ สน.บางซื่อ นายษิทรา จะมีการประสานงานมายัง พ.ต.อ.ภูวดล ก่อน

นอกจากนี้ปรากฏว่า หลังรับแจ้งความ พ.ต.ท.สุพัฒน์ ไม่ดำเนินการสอบสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ปล่อยระยะเวลาเนินนาน อาจทำให้ไม่พบพยานหลักฐาน หรือพยานหลักฐานอาจถูกทำลายตามที่ผู้เสียหายกล่าวอ้าง หรือทำให้ไม่ทราบว่าพยานหลักฐานที่ผู้เสียหายนำมาแจ้งความเป็นความจริงหรือไม่ อาจเกี่ยวข้องกับการตั้งข้อกล่าวหา ประกอบกับข้อมูลตามรายงานสืบสวนปรากฏว่า ไม่พบประวัติการโอนตามที่ น.ส.สารินี แจ้งความ

...

โดยช่วงเวลาที่มีการแจ้งความนั้น กระเป๋าเงินที่ถูกกล่าวอ้างว่ารับโอนเงิน ยังไม่มีการทำธุรกรรมใด ๆ กระเป๋าเงินดังกล่าวมีการทำธุรกรรมภายหลังการแจ้งความจำนวน 6 ครั้ง ไม่ตรงกับที่ น.ส.สารินี แจ้งความ ถือว่า พ.ต.ท.สุพัฒน์ ไม่สอบสวนเพื่อให้ได้ความแน่ชัดว่ามีคดีอาญาเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 ลงวันที่ 1 ก.ค. 2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำเนาสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุมตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ประกอบคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 182/2556 ลงวันที่ 17 มี.ค. 2566 เรื่อง การรับแจ้งความร้องทุกข์ การบริหารคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการมอบหมายอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบให้ รอง ผบ.ตร. ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอปส.ตร.) กรณีนี้หากสอบสวนแล้วไม่ปรากฏว่าความผิด และไม่มีข้อเท็จจริง หรือพยานหลักฐานที่ต้องสืบสวนสอบสวนต่อไป พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นงดการสอบสวน หรือเห็นควรให้งดการสอบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นพิจารณา

แต่ พ.ต.ท.สุพัฒน์ หาดำเนินการเช่นนั้นไม่ ส่วน พ.ต.อ.ภูวดล เป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้สั่งการ พ.ต.ท.สุพัฒน์ ขณะปฏิบัติหน้าที่เวรสอบสวนให้ลงบันทึกประจำวันรับแจ้งเหตุดังกล่าว โดยมิได้กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนอย่างใกล้ชิดเพียงพอ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 เวลาประมาณ 12.33 น. ที่ สน.บางซื่อ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.

อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ม.117 และ ม.179 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนเพื่อสืบสวนในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลดังนี้ พ.ต.อ.ทินกร สมวันดี รอง ผบก.อก.บช.น. เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการ พ.ต.อ.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล ผกก. (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 2 พ.ต.ท.กิตติศักดิ์ จูสกุลวิจิตร์ สว. (สอบสวน) สน.พหลโยธิน พ.ต.ท.ธนกฤษ เฟื่องสังข์ สว. (สอบสวน) (หัวหน้างานคดี) สน.ประชาชื่น และเลขานุการ ร.ต.อ.พชรพล เพ็ชรโสม รอง สว. (สอบสวน) สน.ประชาชื่น กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสืบสวนดำเนินการสืบสวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสืบสวนข้อเท็จจริง พ.ศ. 2556 ให้แล้วเสร็จ แล้วเสนอสำนวนการสืบสวนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

อนึ่ง ถ้าคณะกรรมการสืบสวนเห็นว่ากรณีมีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การสืบสวนพาดพิงไปถึงข้าราชการผู้อื่นและคณะกรรมการสืบสวนพิจารณาในเบื้องต้นแล้วเห็นว่าข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำในเรื่องที่สืบสวนนั้นอยู่ด้วย ให้ประธานกรรมการรายงานมาโดยเร็ว