รักษาการ ผบ.ตร.สั่งผู้การปากน้ำเร่งตรวจสอบเคส “ร้อยเวร” อมเงินคดีไกล่เกลี่ย ย้ำหากจริง เอาผิดทั้งวินัย อาญา โดยไม่มีการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง เอาตำแหน่งให้ตำรวจดีๆ ขึ้นมาเป็นสัญญาบัตรดีกว่า
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า จากกรณีปรากฏเป็นข่าว สาวร้องสายไหมต้องรอด ถูกร้อยเวรเชิดเงิน หลังไกล่เกลี่ยลูกหนี้คดีเช็คเด้งให้ผ่อนจ่ายเป็นงวด สุดท้ายโดนตำรวจอมเงินไม่ส่งคืนเจ้าหนี้นั้น
เรื่องนี้ตนได้สั่งการไปที่ พล.ต.ต.วิชิต บุญชินวุฒิกุล ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ให้ตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึก หากพบว่ากระทำผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาจะต้องพิจารณาทั้งทางวินัยร้ายแรง และทางอาญา โดยไม่มีการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นบรรทัดฐานที่ดีกับตำรวจที่กระทำผิด เอาตำแหน่งให้ตำรวจดีๆ ขึ้นมาเป็นสัญญาบัตรดีกว่า และหากเด็ดขาดแบบนี้ จะทำให้ประชาชนเขาเชื่อใจว่าตำรวจไม่ช่วยกันและทำตรงไปตรงมา “รรท.ผบ.ตร. กล่าว”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว เหตุจาก น.ส.วนิศา อายุ 34 ปี ร้องขอความช่วยเหลือจากนายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด เนื่องจากถูกตำรวจ สภ.สำโรงใต้ โกงเงิน 30,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ลูกหนี้ของเธอฝากให้มาใช้หนี้ผ่านตำรวจ โดยผู้เสียหายเล่าว่า ตนเองทำธุรกิจโรงกลึงใน จ.สมุทรปราการ แต่เมื่อปี 2564 ถูกลูกค้ารายหนึ่งจ่ายเช็คเด้งมูลค่า 642,252.10 บาท ให้กับเธอ เธอจึงไปแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.สำโรงใต้
โดย ร.ต.อ.ปัญญาพล รองสารวัตรสืบสวนสอบสวน เป็นผู้รับผิดชอบคดีดังกล่าวและมีการเจรจาไกล่เกลี่ย จนคู่กรณียอมชดใช้เงินคืนให้เต็มจำนวนและทำบันทึกข้อตกลง ตั้งแต่ตุลาคม 2566 โดยทุกครั้งที่ผ่านมา ลูกหนี้นำเงินมาคืนจะต่อหน้าตำรวจ และเธอจะแบ่งเปอร์เซ็นต์รองสารวัตร 10% ของยอดเงินทั้งหมด ผู้เสียหายยืนยันที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาเลย ลูกหนี้ใช้หนี้ได้เกือบ 3 แสนบาทแล้ว กระทั่งเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เธอไม่สามารถติดต่อรองสารวัตรได้เลย จึงเมื่อเดือน ก.ย. อดีตสามีของเธอไปสอบถามจากลูกหนี้คนดังกล่าวถึงเงินที่เหลือ ก็บอกว่านำเงินมาฝากไว้กับตำรวจแล้วตั้งแต่ 22 ก.ค. จำนวน 2 หมื่นบาท และเมื่อวันที่ 6 ก.ย. จำนวน 10,000 บาท ซึ่งเธอและอดีตสามีก็งง และพยายามติดต่อไปสอบถามยังรองสารวัตรคนดังกล่าว จนเจ้าตัวยอมรับว่าเงินอยู่ที่ตนจริง 30,000 บาท และนัดไปเอาสิ้นเดือน ก.ย. เพราะลูกหนี้จะเอาเงินมาใช้เพิ่มอีกก้อนหนึ่ง แต่พอถึงสิ้นเดือน ก.ย. ตามที่นัดหมาย ตำรวจคนดังกล่าวก็ไม่ติดต่อมา ทำให้จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้เงินและไม่สามารถติดต่อตำรวจได้ ทำให้เธอกังวลว่าจะไม่ได้เงิน 30,000 บาทคืน และทำให้ลูกหนี้ใช้เป็นข้ออ้างในการเบี้ยวไม่จ่ายหนี้ที่เหลือจนหมดอายุความ
...
โดยนายเอกภพ กล่าวว่า ความจริงแล้วตำรวจไม่ควรรับเงินจากผู้เสียหาย แต่ตนเข้าใจว่า 10% ผู้เสียหายเต็มใจจะให้เป็นสินน้ำใจ จึงขอให้รองสารวัตรนำเงินมาคืน เพราะเข้าข่ายความผิดฐานยักยอกเงิน