ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับ 6 จำเลยคดีตากใบ ส่วนอดีตแม่ทัพภาค 4 "พิศาล วัฒนวงษ์คีรี" สส.เพื่อไทย ได้รับความคุ้มกันตามเอกสิทธิ์ ศาลส่งหนังสือด่วนที่สุดไปถึงประธานสภาฯ ขออนุญาตจับกุม พร้อมมีหมายเรียก และนัดใหม่ 15 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณศาลจังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมาเป็นไปอย่างคึกคัก มีโจทก์และครอบครัวรวมถึงญาติ ๆ เดินทางมายังศาลจังหวัดนราธิวาสเพื่อร่วมรับฟังการไต่สวนสอบคำให้การจำเลย 7 คน จากคดีอาญาตากใบในข้อหา ฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นรวมถึงร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งมีครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การนัดสอบปากคำครั้งนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บต่างให้ความสำคัญ เนื่องจากคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ซึ่งหากจำเลยทั้ง 7 ไม่มาในครั้งนี้ อาจจะมีการเลื่อนต่อไปจนกระทั่งหมดอายุความ

สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมด้วยรถทหาร โดยนอนทับซ้อนกันไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย เพราะขาดอากาศหายใจ โดยศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นฟ้องจริง จึงได้แจ้งหมายนัดไปยังจำเลย 7 คน มาสอบคำให้การในวันนี้

...

ต่อมา เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ผู้พิพากษาได้นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดจำเลย 7 คนในคดีอาญาตากใบ มาสอบคำให้การ หลังจากเมื่อวันที่ 23 ส.ค. 67 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งรับฟ้องคดีอาญาตากใบในข้อหา ฆ่าผู้อื่น, พยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมขึ้นรถทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในลักษณะให้นอนซ้อนกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย จากการขาดอากาศหายใจ และ 7 รายเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม โดยศาลเห็นว่าคดีมีมูลตามที่โจทก์ยื่นพยานหลักฐานและมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมและการเคลื่อนย้ายเกิดขึ้นจริง

ศาลนัดเวลา 09.00 น. แต่เมื่อถึงเวลา จนถึงเวลา 11.00 น. ศาลแถลงว่า ศาลได้สอบถามจากทนายความจำเลยที่ 8 และ 9 ที่มาศาล ทราบว่าไม่สามารถติดต่อจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งฟ้อง จึงไม่ทราบว่าจะให้เป็นทนายต่อไปอีกหรือไม่ และศาลได้ติดต่อไปก็ไม่สามารถติดต่อได้เช่นกัน ศาลจึงมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 6 และจำเลยที่ 8 และจำเลยที่ 9 ส่วนจำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และจำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรอง ผกก.สภ.ตากใบ ปัจจุบันเป็นรอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี ศาลยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเช่นกัน

ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการพล.ร.5 ปัจจุบันอายุ 73 ปี จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า ปัจจุบันอายุ 73 ปี จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ปัจจุบันอายุ 77 ปี จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปัจจุบันอายุ 70 ปี จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันอายุ 78 ปี และจำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันอายุ 78 ปี

ส่วนจำเลยที่ 1 คือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย จึงได้รับความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 และอยู่ระหว่างสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลไม่สามารถออกหมายจับได้ และจับกุมไม่ได้ ศาลจึงจะมีหนังสือด่วนที่สุดไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขออนุญาตจับกุมจำเลยที่ 1 และมีหมายเรียก พร้อมมีหนังสือด่วนที่สุดให้จำเลยที่ 1 แจ้งว่าศาลนี้ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ขอให้จำเลยที่ 1 แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อสละความคุ้มกันและมาศาลในนัดหน้า ซึ่งศาลนัดในวันที่ 15 ต.ค. 2567

ส่วนจำเลย 6 คนที่ถูกออกหมายจับ ให้ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และตำรวจศาลมีอำนาจจับกุมได้ทันทีที่พบตัวภายในอายุความถึงวันที่ 25 ต.ค. 2567 ที่จะถึงนี้

ด้านนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความของญาติและครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวว่า ซึ่งมีครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรวม 48 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ได้เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนจำเลย 7 คนที่ถูกออกหมายเรียกเพื่อเข้าให้คำให้การที่ศาลจังหวัดนราธิวาสในคดีดังกล่าว หลังจากศาลจังหวัดนราธิวาสรับคำฟ้องในคดีอาญาตากใบ และแจ้งความจำเลยทั้ง 7 ในข้อหา ฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นรวมถึงร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยหลังร่วมรับฟังเปิดเผยว่า ในวันนี้จำเลยทั้ง 7 ไม่ได้เดินทางมาร่วมให้ปากคำไต่สวนแต่อย่างใด มีเพียงตัวแทนจำเลยที่ 8 และ 9 ที่มาร่วมสังเกตการณ์ แต่ไม่ได้มีเอกสารสิทธิ์มายื่นแต่อย่างใด โดยจากที่จำเลยทั้ง 7 ไม่เดินทางมาร่วมไต่สวนเพื่อให้การในครั้งนี้ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงได้ดำเนินการออกหมายจับจำเลย 6 คน ยกเว้นจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญการเป็น ส.ส. ซึ่งศาลจังหวัดนราธิวาสได้จัดทำหนังสือไปยังรัฐสภา เพื่อยกเลิกการคุ้มครองเพื่อให้จำเลยสามารถมาให้ปากคำกับศาลจังหวัดนราธิวาสได้ ซึ่งในวันที่ 15 ตุลาคม 67 นี้ จะมีการนัดไต่สวนและติดตามคดีเพิ่มเติมหลังจากดำเนินการออกหมายจับไปแล้ว ก่อนที่คดีจะหมดอายุความวันที่ 25 ตุลาคม 2567 นี้

...

นายรัษฎา มนูรัษฎา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากเรียกร้องให้จำเลยทั้ง 7 มาแสดงตัว เพื่อชี้แจงและสร้างความกระจ่างให้กับประชาชนเนื่องจากประชาชนต่อสู้และรอคอยความยุติธรรมมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับตอนชาวบ้าน 59 คนที่โดนฟ้องทุกคนยังมาศาลเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งถือเป็นความจริงใจในขั้นต้น หากจำเลยหลบหนีไม่มอบตัว รอจนกว่าคดีหมดอายุความทั้งหมดก็จะยังเป็นจำเลยในใจประชาชน รวมถึงทั่วโลกที่เกิดความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการสิทธิมนุษยชน เพราะจำเลยทั้ง 7 ล้วนเป็นผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งในระดับสูง อีกทั้งบางคนยังอยู่ในการระดับบริหารประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม การไม่เดินทางมายังศาลจังหวัดนราธิวาสพร้อมกันของจำเลยทั้ง 6 คนในครั้งนี้ ทั้งที่มีการรับหมายนัดทั้งตัวเอง และมีผู้รับจดหมายแล้วนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนถึงเจตนา แต่ก็ขอให้นึกถึงจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญเพราะเหตุการณ์ตากใบมีทั้งคนตายและคนเจ็บต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งในส่วนของโจทก์ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรทุกคนก็น้อมรับ แต่ขอเรียกร้องให้ทุกคนมาแสดงตัว มารับทราบถึงสิ่งที่ตนเองกระทำไว้

...