รวบหนุ่มแสบอ้างเป็น "ตำรวจ" โทรหลอกญาติผู้ต้องหาคดียาเสพติด ช่วยวิ่งเต้นเคลียร์คดีได้ เหยื่อหลงเชื่อสูญเงินหลักแสน พบมีผู้เสียหายกว่า 10 ราย รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท 


เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 กรกฎาคม 2567 พล.ต.ท.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผบช.ภ.6 เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.บัณฑิต ตุงคะเศรณี รอง ผบช.ภ.6 ร่วมกับ พล.ต.ต.ไสว ครุธผาสุข ผบก.สส.ภ.6 และ พล.ต.ต.นิคม เครือนพรัตน์ ผบก.ภ.จว.พิษณุโลก สั่งการให้ พ.ต.อ.ธัชพงศ์ วงศ์พัฒนานิวาศ ผกก.สภ.เมืองพิษณุโลก, พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ ถาบุญชู ผกก.สืบสวน 2 บก.สส.ภ.6, พ.ต.ท.วรการ กาศเกษม รอง ผกก.สส.สภ.เมืองพิษณุโลก, พ.ต.ท.พงษ์พันธ์ ออมสิน รอง ผกก.สืบสวน 2 บก.สส.ภ.6 และ พ.ต.ท.สิทธิศักดิ์ สุดหอม สว.สส.สภ.เมืองพิษณุโลก 

ร่วมกันทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดกลุ่มคนร้ายที่ได้ก่อเหตุแอบอ้างหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยเหลือผู้เสียหาย (ญาติผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม) รับเคลียร์ หรือวิ่งเต้นคดีจำนวนหลายครั้ง ทั้งในเขตพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 6 และพื้นที่อื่นๆ รวมแล้วกว่า 10 คดี โดยมีผู้แจ้งความไว้แล้ว 7 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 850,000 บาท

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2567 ในพื้นที่ สภ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ได้เกิดเหตุคนร้ายแอบอ้างเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง โทรศัพท์ไปยังผู้เสียหายที่เป็นญาติของผู้ต้องหาซึ่งถูกจับกุมจริง ในคดียาเสพติด ว่าสามารถช่วยเหลือทางคดี สามารถปล่อยตัวได้แลกกับการไม่ให้ถูกดำเนินคดี ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้โอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของคนร้าย จำนวน 100,000 บาท ต่อมาผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.บางกระทุ่ม ตำรวจชุดสืบสวน สภ.บางกระทุ่ม และ สภ.เมืองพิษณุโลก ทำการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ทราบว่า คนร้ายได้อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองผู้กำกับ โทรศัพท์มายังเจ้าหน้าที่ตำรวจห้องวิทยุ, สิบเวร, สายตรวจตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหลอกถามข้อมูลส่วนตัวของญาติผู้ต้องหา และนำข้อมูลดังกล่าวไปหลอกลวงผู้เสียหาย จนผู้เสียหายหลงเชื่อแล้วโอนเงินไปให้จริง แต่ต่อมาหลังจากโอนเงินแล้วกลับไม่สามารถติดต่อกับคนร้ายดังกล่าวได้ จึงเชื่อแล้วว่าถูกหลอกลวง

...

ต่อมาวันที่ 16 ก.ค. 2567 ชุดสืบสวน บก.สส.ภ.6 และชุดสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก ได้เดินทางไปสืบสวนและทราบข้อมูลว่า กลุ่มคนร้ายได้ใช้บัญชีในการรับ-โอนเงินดังกล่าวพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ระยอง จึงส่งชุดสืบสวนไปทำการตรวจสอบเพื่อสืบสวนหาตัวคนร้าย จนจับกุม นายวุฒิชัย หรือแม็ก บุญศรี อยู่บ้านเลขที่ 122 ม.6 ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด อันเป็นบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดพิษณุโลก ที่ 391/2567 ลง 16 ก.ค. 2567 ในข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นเป็นคนอื่นฯ" ได้ที่บริเวณภายในบ้านพัก พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ที่นายแม็กได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับกลุ่มคนร้ายรายอื่น ก่อนควบคุมตัวพร้อมของกลางนำส่ง พนักงานสอบสวน สภ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เพื่อให้ดำเนินคดีและขยายผลการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายต่อไป

และเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 ชุดสืบสวน บก.สส.ภ.6 พร้อมด้วย ชุดสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก, กก.สืบสวน ภ.จ.อุบลราชธานี และชุดสืบสวน สภ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พร้อมกับพวกได้นำหมายค้นศาลจังหวัดอุบลราชธานี ที่ ค.136/67 ลง 20 ก.ค. 2567 เข้าตรวจค้นขยายผล "กรณีมีเครือข่ายคนร้ายแอบอ้างหลอกลวงเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วยเหลือผู้เสียหาย (ญาติผู้ต้องหาที่ถูกจับกุม) รับเคลียร์คดี" โดยจากการตรวจสอบและการสอบสวนปากคำนายวุฒิชัยหรือแม็ก ของตำรวจชุดสืบสวน สภ.เมืองพิษณุโลก และ บก.สส.ภ.6 ทราบว่า คดีนี้มีผู้เสียหายกว่า 10 ราย ความเสียหายกว่า 1 ล้านบาท โดยมีผู้เสียหายในพื้นที่ ภ.6 และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ

ซึ่งสั่งการโดย นายกฤษณ์ หรือเอ็ม รอดบุญเกิด อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 317 แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่ที่บ้านพักเลขที่ 170 หมู่ที่ 9 ต.หนองกินเพล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี จึงขอหมายค้นจากศาลไปทำตรวจค้นพบนายกฤษณ์ หรือเอ็ม รอดบุญเกิด อยู่ในบ้านพัก และพบของกลางเป็นโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง ซึ่งตรงกันกับหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้หลอกลวงผู้เสียหาย รถยนต์กระบะ ยี่ห้ออีซูซุ รุ่นดีแมคซ์ สีขาว หมายเลขทะเบียน กท 5385 สระแก้ว จำนวน 1 คัน และยาบ้าจำนวน 5 เม็ด กับ 1 ชิ้น (ครึ่งเม็ด) จึงควบคุมตัวนำส่ง พงส.สภ.วารินชำราบ ดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในในครอบครองตามกฎหมายต่อไป

ส่วนของกลางอื่นๆ ที่ใช้ในการโทรหลอกลวง เช่น โทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการคุย บัญชีธนาคาร ซิมการ์ด ฯลฯ ของนายกฤษณ์ หรือเอ็ม รอดบุญเกิด ตำรวจชุดจับกุมได้นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก เพื่อให้ดำเนินคดีและขยายผลคดีอื่นๆ ตามกฎหมายต่อไป 

นอกจากนี้เจ้าหน้าชุดสืบสวนได้ทำการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดของ นายกฤษณ์ ผ่านระบบ CRIME พบประวัติการกระทำความผิดทั้งสิ้น จำนวน 15 คดี โดยเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและ คดีฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ฉ้อโกงประชาชน เกือบทั้งสิ้น โดย นายกฤษณ์ จะใช้วิธีการหาข้อมูลเพื่อมาใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหาย โดยจะหาข้อมูลจากข่าวต่างๆ ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (Google, Facebook) ที่มีการจับกุมผู้ต้องหาคดีต่างๆ และมีชื่อ ยศ ตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ที่เป็นชุดจับกุม หลังจากนั้นจะเลือกคดีที่มีช่องทางสามารถติดต่อผู้เสียหายได้แล้ว จึงแกล้งโทรศัพท์ติดต่อไปยังผู้เสียหาย โดยอ้างว่าตนเองนั้นเป็นตำรวจหัวหน้าชุดจับกุม (แอบอ้างชื่อจากในข่าว) สามารถช่วยเหลือวิ่งเต้นเกี่ยวกับคดีที่ผู้เสียหาย หรือญาติผู้เสียหาย ถูกดำเนินคดีที่โรงพักต่างๆได้ พร้อมบอกให้โอนเงินเพื่อเป็นการวิ่งเต้นเคลียร์คดี และสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ โดยหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารม้า (บช.ม้า) หลายบัญชี ที่กลุ้มคนร้ายได้ตระเตรียมมา โดยหลอกลวง เป็นจำนวนเงิน ตั้งแต่ 20,000-300,000 บาท

พล.ต.ท.กิติศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ ผบช.ภ.6 กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและระวังป้องกันภัยจากการถูกมิจฉาชีพ แอบอ้างชื่อหน่วยงานรัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ, เป็นศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ เป็นต้น โดยตัดต่อ, สืบค้น หรือคัดลอกข้อมูลต่างๆ มาจากข่าวสาร สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ เพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หรือหลอกให้โอนเงิน จึงแนะนำให้ประชาชนควรหมั่นสังเกตและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันกลโกงต่างๆ ของมิจฉาชีพ 

...

ทั้งนี้ทางตำรวจภูธรภาค 6 จะดำเนินการสืบสวนติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว โดยใช้มาตราการลงโทษทางกฎหมายในฐานความผิดขั้นสูงสุด เพื่อเป็นแบบอย่างมิให้การกระกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว และจะดำเนินการจับกุมการกระทำความผิดลักษณะดังกล่าวอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนสืบไป