มิจฉาชีพบนโลกออนไลน์กำลังกลายเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของตำรวจ
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับภัยทางเทคโนโลยีอย่างรุนแรง
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.สอท.เขียนบทความสะท้อนความท้าทายในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
หลังจากพบตัวเลขสถิติจากระบบรับแจ้งความออนไลน์ ThaiPoliceOnline.go.th ตั้งแต่เดือน มี.ค.2565 ถึง เม.ย.2567 มีการรับแจ้งความออนไลน์มากกว่า 500,000 คดี มูลค่าความเสียหายเกือบ 70,000 ล้านบาท
เดือน เม.ย. 2567 ทำสถิติการรับแจ้งความสูงที่สุดเกือบ 30,000 คดี แม้จะสามารถอายัดเงินได้ทันเกือบ 6,000 ล้านบาท แต่แทบจะไม่สามารถ “คืนเงิน” ให้ผู้เสียหายได้
เนื่องจาก “ขาดกลไก” ที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบวิเคราะห์ และแจ้งให้พนักงานสอบสวนขอเงินที่ยึดได้ทัน
ในแต่ละวันมีผู้เสียหายโทร.เข้าสายด่วน 1441 เพื่อแจ้งความออนไลน์และขอคำปรึกษาร่วมกัน มากกว่า 3,000 คู่สาย รูปแบบคดีที่ถูกหลอกลวงยังมีลักษณะคล้ายๆเดิม แต่ยังคงมีผู้เสียหายถูกหลอกลวงมากขึ้นเรื่อยๆ
ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกหลอกลวงไม่ได้ติดตามข่าวสาร และไม่รู้วิธีการรับมือกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า คนร้ายสามารถปลอมเบอร์โทรศัพท์ หรือชื่อผู้ส่งข้อความสั้นได้
ดังนั้นเมื่อคนร้ายแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประชาชนมีแนวโน้มที่จะหลงเชื่อ แล้วถูกดึงให้ไปคุยต่อในแอปพลิเคชันไลน์ คนร้ายปลอมโปรไฟล์เป็นใครก็ได้อย่างแนบเนียน ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินไปให้คนร้ายที่ข่มขู่ว่าไปเกี่ยวพันกับการ “ฟอกเงิน”
ต้องโอนเงินไปตรวจสอบความบริสุทธิ์ หรือหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชัน “ดูดเงิน”
...
ตกเป็นเหยื่อเพียงช่วงเวลาไม่ได้ตั้งสติแค่วูบเดียว.
สหบาท