"ชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตผู้บริหาร บมจ.สตาร์คฯ ผู้ต้องหาคนสำคัญ คดีหุ้นสตาร์ค มูลค่าความเสียหายเกือบ 1.5 หมื่นล้าน ถูกส่งตัวถึงไทยแล้ว หลังหนีซุก "ยูเออี" ดีเอสไอนำสอบ-ก่อนส่งฟ้องอัยการพรุ่งนี้ "หน.ชุดคลี่คลายคดี" แย้มผู้ต้องหามีสิทธิให้การ-หรือปฏิเสธ แต่มั่นใจสำนวนพยานหลักฐานมัดตัวแน่น
เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 23 มิ.ย. 67 ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ นำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รรท.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และคณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ นายวุฒิไกร ศรีธวัช ณ อยุธยา ผอ.ส่วนสะกดรอยและการข่าว ภายใต้การอำนวยการของนายวิทวัส สุคันธรส ผอ.ศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) จำเลยรายสำคัญในคดีทุจริตบริษัท สตาร์คฯ ความเสียหายเกือบ 1.5 หมื่นล้านบาท ออกจากอาคารผู้โดยสาร ชั้น 2 ประตู 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ยี่ห้อโตโยต้า ALTIS สีดำ ทะเบียน 3 ขษ 3067 กรุงเทพมหานคร มาถึงอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดย นายชนินทร์ ก้าวออกจากรถยนต์คันดังกล่าวโดยมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอประกบรอบข้าง ด้วยสีหน้าเรียบเฉยและไม่ตอบคำถามใดๆ กับผู้สื่อข่าว ไม่ว่าจะเป็นกรณีการประสานขอมอบตัวด้วยตัวเอง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รวมถึงจะมีการต่อสู้คดีหลังจากนี้อย่างไรบ้าง คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ควบคุมตัว นายชนินทร์ เข้าไปภายในลิฟต์ ก่อนนำตัวขึ้นไปยังห้องประชุม ชั้น 1 ด้านบนอาคาร อีกทั้งในเวลาประมาณ 14.00 น. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จะเดินทางจาก จ.นราธิวาส มายังอาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือกับคณะพนักงานสอบสวนตามลำดับต่อไป
...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ พนักงานสอบสวนดีเอสไอ จะสอบปากคำผู้ต้องหา และนำตัวสำนวนส่งยังพนักงานอัยการคดีพิเศษ โดย นายวิรุฬห์ ฉันท์ธนนันท์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษได้สั่งการให้อัยการผู้รับผิดชอบสำนวน ได้เตรียมร่างฟ้องไว้เเล้ว หากมีการนำตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนมาทางพนักงานอัยการคดีพิเศษที่รับผิดชอบสำนวน ซึ่งเตรียมคำฟ้องไว้เเล้ว ก็สามารถนำตัวผู้ต้องหาพร้อมคำสั่งฟ้องไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาได้ทันที แล้วค่อยไปขออนุญาตศาลรวมสำนวน คดีกับจำเลยที่ฟ้องไปก่อนหน้านี้
ขณะที่ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผอ.กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า สำหรับกระบวนการภายหลังการรับตัว นายชนินทร์ เย็นสุดใจ หากมีการทำบันทึกจับกุมเสร็จสิ้นเรียบร้อย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่ต้องคุมตัวผู้ต้องหาไปทำบันทึกการจับกุม ที่อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ แต่สามารถนำตัวไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำที่ห้องสอบสวนกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ศูนย์ราชการฯ อาคารบี ชั้น 8 ได้ทันที อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัว นายชนินทร์ 48 ชั่วโมง ทำให้ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ จึงจะสามารถนำตัว นายชนินทร์ พร้อมพยานหลักฐานเพิ่มเติม นำส่งพนักงานอัยการคดีพิเศษ ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ ถนนรัชดาภิเษก เพื่อพนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลอาญารัชดาภิเษกตามขั้นตอน ทั้งนี้ ในจำนวน 11 ผู้ต้องหา ที่ดีเอสไอได้สรุปสำนวนสั่งฟ้องต่ออัยการ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 นั้น นายชนินทร์ คือผู้ต้องหาเพียงรายเดียวที่หลบหนีหมายจับของศาล และเป็นบุคคลที่ดีเอสไอไม่ได้ตัวมาฟ้องพร้อมกับสำนวน
พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นในการจะใช้สอบปากคำ นายชนินทร์ ตนอยากเรียนว่าผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ รวมถึงจะปฏิเสธข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนอย่างไรก็ได้ แต่หลักการสืบสวนสอบสวนนั้น เราจะไม่ไปคาดหวังหรือคาดคั้นเอาคำตอบจากผู้ต้องหา เพราะเรามีการรวบรวมพยานหลักฐานมากพอสมควร จนเป็นเหตุเชื่อได้ว่าผู้ต้องหามีการกระทำความผิดตามที่ได้สั่งฟ้องจริง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้มีการเตรียมประเด็นที่จะไว้ใช้สอบปากคำ นายชนินทร์ แน่นอน เช่น การตกแต่งงบการเงินของบริษัท สตาร์คฯ เป็นต้น
...
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีคดี นายชนินทร์ กับพวกรวม 11 ราย ประกอบด้วย 1.นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ 2.นายชินวัฒน์ อัศวโภคี 3.นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ 4.นายกิตติศักดิ์ จิตต์ประเสริฐงาม 5.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น 6.บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด 7.บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด 8.บริษัท ไทยเคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9.บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 10.น.ส.ยสบวร อำมฤต และ 11.นายชนินทร์ เย็นสุดใจ มีความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน การยักยอกหรือฉ้อโกงหรือการกระทำโดยทุจริต ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และการยักยอกทรัพย์อันมีลักษณะเป็นปกติธุระ กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (กรณีหุ้น STARK) ซึ่งมี นายชนินทร์ เป็นประธานกรรมการบริษัท มีพฤติการณ์ตกแต่งงบการเงินของบริษัท เพื่อแสดงผลการดำเนินการที่ดีและสูงกว่าความเป็นจริง ต้องการให้เป็นที่สนใจของผู้ลงทุน และได้รับผลประโยชน์ ซึ่งการกระทำของผู้ต้องหามีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ฐานตกแต่งบัญชีและงบการเงิน และฐานฉ้อโกงประชาชน รวมถึงความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542