"ตำรวจ ปคม.-อย." บุกทลายเครือข่ายอาหารเสริมลวงโลก โฆษณาเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค ขายความหวังรักษาโรคร้าย ยึดของกลางมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เข้าตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 7,327 ขวด มูลค่ากว่า 10 ล้านบาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับการประสานงานจาก อย. ให้ทำการตรวจสอบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ลักษณะอวดอ้างสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และไม่ได้รับอนุญาต ด้วยภาพ เสียง และข้อความ ซึ่งได้มีการดำเนินคดีในความผิดฐาน "โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร และโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต" ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 40 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับไปแล้วนั้น
ต่อมาพบว่ายังมีการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าว ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะที่สื่อหรือแสดงให้เข้าใจว่า เมื่อรับประทานแล้วมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกาย หน้าที่การทำงานของอวัยวะ หรือระบบการทำงานของร่างกาย สามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันความเจ็บป่วย หรืออาการของโรค ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความหลงเชื่อ โดยบางคลิปยังใช้บุคคลมีชื่อเสียงหรือดารา เป็นพรีเซนเตอร์สร้างความน่าเชื่อถือ ยอมซื้อสินค้ามารับประทานในราคาสูงถึงขวดละ 1,450 บาท (15 มิลลิลิตร) โดยมีการโฆษณาจำหน่ายในลักษณะดังกล่าวมาแล้วประมาณ 4 ปี
...
ซึ่งความจริงแล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่สามารถโฆษณาในทางป้องกัน บำบัด บรรเทา รักษาเป็นคุณสมบัติของยารักษาโรคได้ โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณต่างๆ อาทิ เส้นเลือดสมองตีบ เกิดขึ้นทุก 4 นาที ปีละกว่าแสนคนฟื้นฟูได้ด้วย เอโดซี ฟื้นฟูอาการทางสมองในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก เสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท ฟื้นฟูภาวะความจำเสื่อม สมองเสื่อม, ประสบการณ์จริงจากผู้ใช้ หายจากหลอดเลือดสมองตีบ-ตัน-อัมพฤกษ์-อ่อนแรง นอนติดเตียง, ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ปี 2556 มะเร็งลามเข้าที่ปอดข้างขวา ปี 2557 เป็นโรคตับและโรคไต ทาน 7 ขวด ภายในระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้น หมอนัดเพื่อดูอาการ หมอบอกว่าตรวจร่างกายแล้วเป็นปกติดี จากที่เคยจ่ายยารักษาโรคให้เยอะๆ ตอนนี้หมอไม่ได้จ่ายยาให้อีกแล้ว, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าว เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับเซลล์ในร่างกาย ช่วยขับล้างสารพิษ สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง ช่วยลดและชะลอความเสื่อมต่างๆ รวมถึงโรคที่เกิดจากความเสื่อม เช่น เบาหวาน ไมเกรน มะเร็ง ภูมิแพ้ เกาต์ โรคตับ โรคไต ไทรอยด์เป็นพิษ สะเก็ดเงิน ข้อเข่าเสื่อม และโรคอื่นๆ ที่สำคัญช่วยเพิ่มออกซิเจน ทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า ให้พลังงานกับเซลล์ในร่างกาย เคล็ดลับสุขภาพดี และเป็นโรคอัมพฤกษ์เดินไม่ได้ โรคเส้นเลือดหลอดเลือดสมองตีบ นอนติดเตียงหายได้ เดินเองได้เมื่อบริโภคเสริมอาหาร ก็จะหายจากโรคร้ายต่างๆ ได้ เป็นต้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนรวบรวมข้อมูล พบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยใช้ข้อความหลอกลวงเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า ผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก รวมกว่า 22 เว็บไซต์ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าวไปส่งตรวจที่ อย. พบว่ามีการแสดงฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีลักษณะและวัตถุประสงค์ในการผลิตเป็นอาหาร จึงจัดเป็นอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 และพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง เช่น ฉลากระบุส่วนประกอบสำคัญ ไม่สอดคล้องกับสูตรส่วนประกอบที่ได้รับอนุญาต อีกทั้งฉลากแสดงส่วนประกอบสำคัญไม่ตรงกับที่ขออนุญาต ซึ่งยังไม่ได้รับอนุญาตตามสูตรส่วนประกอบนั้น แต่แสดงเลขสารบบอาหาร ทำให้เข้าใจว่าได้รับอนุญาตแล้ว จัดเป็นอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 27 (4)
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงกลุ่มผู้กระทำความผิด แหล่งผลิต และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 21 มีนาคม 2567 จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขออนุมัติหมายค้นในพื้นที่ กทม.และ จ.ฉะเชิงเทรา 2 จุด คือ 1. บริษัทผู้จัดจำหน่าย พื้นที่ เขตดอนเมือง กทม. ซึ่งเป็นแหล่งจัดเก็บ และกระจายสินค้าให้ตัวแทนจำหน่าย ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าว จำนวน 6,480 ขวด รวมทั้งพยานหลักฐานอื่นๆ เพื่อประกอบการดำเนินคดี
จากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังกล่าวจัดจำหน่ายโดยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายในลักษณะธุรกิจเครือข่าย เพื่อเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้า เน้นทำการตลาดในเชิงโฆษณาชวนเชื่อ มีตัวแทนระดับต่างๆ และเป็นกลุ่มย่อยกระจายไปหลายกลุ่ม มีการขายเป็นลักษณะการขายตรง ใช้วิธีโฆษณาถึงความสำเร็จ ความร่ำรวยจากการเป็นตัวแทนจำหน่าย เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการนำสินค้าไปจำหน่าย โดยผู้บริษัทผู้จัดจำหน่ายเป็นผู้จัดทำข้อความ คลิปวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อ ส่งให้ตัวแทนไปทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ตามช่องทางการขายออนไลน์ของตน
2. สถานที่ผลิต พื้นที่ ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อดังกล่าวจำนวน 847 ขวด, ผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ติดฉลาก, รวมทั้งฉลาก ขวด และกล่องบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิต
จากการตรวจสอบพบว่าสถานที่ดังกล่าวได้รับใบอนุญาตผลิตอาหาร แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ อย.ทำการตรวจสุขลักษณะสถานที่ผลิตอาหาร พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ GMP ตามที่กฎหมายกำหนด (ไม่มีการจัดทำบันทึกควบคุมการผลิต) และพบว่าเอกสารเบิกจ่ายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ไม่ตรงกับสูตรส่วนประกอบที่ได้รับอนุญาตไว้ จึงเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม
รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีก จำนวน 7,327 ขวด ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ยังไม่ติดฉลากจำนวนหนึ่ง รวมทั้งฉลาก ขวด-กล่องบรรจุภัณฑ์ มูลค่าประมาณ 10,917,230 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีต่อไป
...
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้นั้น เจ้าหน้าที่ อย.จะส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพทางวิชาการ และการปลอมปนยาแผนปัจจุบัน ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามจะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน "จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์" ระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
ด้าน ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ อย.ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่ร่วมกับทาง อย.ในการตรวจสอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นเท็จเกินจริง และหลอกลวงผู้บริโภค ทำให้เสียโอกาสในการรักษาที่ถูกวิธี และตรวจยึดผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก โดยผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้ เป็นอาหารที่ได้รับอนุญาตแต่มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง และมีพฤติกรรมในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียล โพสต์รูปภาพ คลิปวิดีโอ และข้อความอันสื่อให้เข้าใจว่าสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคเบาหวาน ไมเกรน มะเร็ง ภูมิแพ้ เกาต์ โรคตับ โรคไต ไทรอยด์เป็นพิษ สะเก็ดเงิน ข้อเข่าเสื่อม ที่โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ ไม่มีหลักฐานหรือผลการทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน ขอเตือนไปยังผู้กระทำการโฆษณา ให้หยุดทำการโฆษณาที่เป็นเท็จเกินจริงและหลอกลวงนั้นเสีย ทั้งนี้ อย.และ ปคบ.จะเดินหน้ากวาดล้างดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้ที่กระทำการโฆษณาเป็นเท็จ เกินจริง และหลอกลวงอย่างต่อเนื่อง กรณีผู้ผลิตจากการตรวจสอบเอกสารเบิกจ่ายวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ พบว่ามีการเบิกวัตถุดิบเพื่อไปใช้ในการผลิตไม่ตรงกับสูตรและส่วนประกอบที่ได้รับอนุญาตไว้ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นอาหารปลอม ทั้งนี้ อย.จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
...
ด้าน พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน ว่าขอให้ระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ที่โฆษณาหลอกลวง บรรยายสรรพคุณการรักษาโรค บรรเทาอาการต่างๆ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเกินจริง จนทำให้ผู้บริโภคเกิดความหวัง และหลงเชื่อสรรพคุณในการรักษา ตัดสินใจซื้อสินค้าในราคาสูงมาใช้แล้วอาจไม่ได้รับผลตามที่โฆษณาหลอกลวงไว้ บางรายไม่เกิดผลการรักษาโรค และอาจทำให้อาการเจ็บป่วยทรุดหนักขึ้น เพราะหลงเชื่อสินค้าที่ซึ่งรักษาไม่ได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ทำให้สูญเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์เฉพาะทาง และขอเตือนไปยังผู้คิดจะกระทำความผิด หลอกลวงคนอื่นด้วยวิธีการเอาความเจ็บป่วยมาหลอกลวงขายสินค้าให้ผู้บริโภคในราคาสูง หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด