สื่อออนไลน์กำลังเป็น “ภัยคุกคามเด็กและเยาวชน” จากกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีใช้เป็นช่องทางแฝงตัวจ้องเข้ามาล่อลวงแสวงหาผลประโยชน์ หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ที่นับวันยิ่งจะเกิดถี่มากขึ้นเรื่อยๆ

ตามข้อมูลจาก “ยูนิเซฟ และองค์การตำรวจสากล” ทำวิจัยเรื่องหยุดยั้ง อันตรายในไทยปี 2564 เด็กใช้งานอินเตอร์เน็ตอายุ 12-17 ปี “4 แสนคนตกเป็นผู้เสียหายถูกแสวงหาประโยชน์ และล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์” โดยคนแปลกหน้า หรือคนที่เด็กรู้จักไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อภาพระหว่างมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการแบล็กเมล์ ข่มขู่เด็กให้เข้าร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยสัญญาว่าจะให้เงินหรือสิ่งของเป็นการตอบแทน

สิ่งสำคัญรายงานฉบับนี้ยังระบุว่า “เด็กตกเป็นเหยื่อ” ไม่รู้ต้องแจ้งเหตุกับใครหรือขอความช่วยเหลือได้ที่ไหนร้อยละ 10-31 และมีเพียงร้อยละ 1-3 ที่แจ้งความกับตำรวจกลายเป็นปัญหาร้ายแรงต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนนี้

เนื่องในวันอังคารสัปดาห์ที่ 2 เดือน ก.พ.ของทุกปี “เป็นวันอินเตอร์เน็ตปลอดภัยแห่งชาติ” ในปีนี้ยูนิเซฟจับมือรัฐบาลไทย ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน จัดเสวนาสู่สภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยและครอบคลุมยิ่งขึ้นสำหรับเด็กและเยาวชนโดย พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บอกว่า

...

ปัจจุบันโลกการสื่อสาร “ไร้พรมแดนสามารถทำได้ทุกที่” ทำให้กลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์กับเด็ก-เยาวชนในเชิงการค้าอย่างคดีล่วงละเมิดทางเพศ และถ่ายภาพ เพื่อจำหน่ายแพร่หลายในโลกออนไลน์แล้วตั้งแต่ “ดีเอสไอ” ตั้งศูนย์คดีละเมิดทางเพศเด็กเป็นการเฉพาะนั้น

ในช่วงหลังมานี้พบว่า “พฤติกรรมชาวต่างชาติที่เข้ามาในไทย” ด้วยวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศเด็กเพิ่มขึ้น “พฤติการณ์มัก แต่งงานกับหญิงไทยม่ายลูกติด” โดยเน้นหญิงม่ายที่มีลูกสาวแล้วจะฉวยโอกาส กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ แอบถ่ายรูปนำไปแบล็กเมล์ หรือเพื่อประโยชน์อันมิชอบด้วยกฎหมายอื่น

ล่าสุด ได้รับประสานจาก “ตำรวจเยอรมัน” เพื่อตรวจสอบภาพวิดีโอ ชายลูกครึ่งไทย-เยอรมัน “ก่อเหตุทำการล่วงละเมิดทางเพศลูกสาวอายุเพียง ไม่กี่ปีในไทย” ทั้งบันทึกภาพนิ่ง-ภาพเคลื่อนไหว นำเผยแพร่ขายในเว็บดาร์ก เยอรมัน “ก่อนนำสู่การจับกุมดำเนินคดี” ส่วนลูกสาวไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า “พ่อทำการข่มขืนตัวเอง”

สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า “สื่อโซเชียล” เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศเด็กเพิ่มขึ้น ในสมัยก่อน “กระทรวงดีอีเอส” ตรวจจับทำการปิดเว็บไซต์ไม่เหมาะสมปีละหมื่นกว่าเว็บ แต่ปัจจุบันปิดเว็บเหล่านี้สัปดาห์ละเป็น หมื่นเว็บ ทำให้เห็นชัดว่าเว็บไซต์ลามกเพิ่มมากขึ้นแต่หน่วยงานรัฐไทยก็ทำการ ตรวจจับปิดได้เร็วเช่นกัน

ขณะที่ วันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิเด็ก ในคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) บอกว่า ภัยออนไลน์ ในกลุ่มเด็กเพิ่มสูงรุนแรงขึ้นทุกปี และต้องมีเด็กตกเป็นเหยื่อถูกล่อลวงหาประโยชน์ทางเพศ ทั้งข่มขืนแล้วถ่ายรูปขายบนโลกออนไลน์เยอะขึ้นเรื่อยๆ

ด้วยเทคโนโลยีมีบทบาทต่อ “คนทั่วโลก” โดยเฉพาะเด็กในทวีปเอเชียมีสัดส่วนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงที่สุดในโลก 72% ส่วนเด็กไทยอายุ 12-17 ปีเข้าถึงอินเตอร์เน็ตสูงถึง 94% รองจากฟิลิปปินส์ แม้แต่ประเทศห่างไกลอย่าง มองโกเลีย เด็กสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต 88.4% แล้วในปี 2017 มีคดีสูงถึง 2.9 หมื่นคดี และเพิ่มขึ้นปีละแสนคดี

ยิ่งในช่วงโควิด “อินเตอร์เน็ตแทบเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน” แม้มี ประโยชน์มากแต่แฝงด้วยภัยหลายรูปแบบอย่างการล่อลวงเด็กให้หลงรักผ่านอ่อนไลน์และเชื่อมกับออฟไลน์นัดออกมาเจอกันภายนอก เพื่อพาไปข่มขืนแอบบันทึกภาพ “บังคับเอาเงิน หรือขายบนออนไลน์” สิ่งนี้กระทบทางร่างกาย และจิตใจเด็กอย่างมาก

...

เรื่องนี้ “ผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ” ต่างตื่นตัวกระแสโลกได้ทำปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์และการล่วงละเมิดทางเพศ ต่อเด็กทางออนไลน์ในอาเซียนปี 2020 ได้ทำแผนปฏิบัติไว้ 2 แนว

แนวแรก...“ปรับกฎหมายรับสถานการณ์” เพราะกฎหมายล่วงละเมิดทางเพศในประเทศอาเซียนบังคับใช้มานาน “เทคโนโลยีทำให้การทำผิดซับซ้อนมากขึ้น” ดังนั้นต้องปรับกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม

แนวที่สอง...“การปฏิบัติในการบริการ และคุ้มครองสนับสนุนเด็ก” กรณีที่เด็กต้องตกเป็นเหยื่อแต่ละประเทศจะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร เพื่อสนับสนุนความสามารถในการเข้าถึงระบบคุ้มครองเด็ก

นับจากนี้ “ประเทศในอาเซียน” ได้มีการจัดประชุมหารือกันมาต่อเนื่อง ในการปรับแก้กฎหมายให้ทันสมัย “เพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ และการละเมิด เด็กทางออนไลน์ในอาเซียน” ที่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานมาดูแลเกี่ยวกับภัยออนไลน์ โดยเฉพาะในการคุ้มครอง บริการสนับสนุน เก็บข้อมูลแลกเปลี่ยนรูปแบบภัยต่างๆ

แล้วนำหลักข้อมูลสู่การเสริมสร้างเกราะป้องกันในระบบการศึกษาให้เด็ก ตระหนักถึงภัยออนไลน์นั้น

ถัดมาในส่วน “ภาคเอกชน” สำหรับกลุ่มดูแลแพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึง เครือข่ายการสื่อสารต้องเข้ามาร่วมแก้ปัญหาภัยออนไลน์ด้วยที่เรียกว่า “กำไรมาพร้อมกับความรับผิดชอบ” โดยจะต้องกำหนดกฎหมายเงื่อนไขข้อบังคับปฏิบัติในการป้องกัน แต่อาจต้องใช้กลไกระดับภูมิภาคเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชน

...

ต่อมาคือ “การปฏิรูปกฎหมายต้านภัยออนไลน์ในอาเซียน” กำหนดแนวทางตามแผนปฏิญญาว่าด้านการส่งเสริม พัฒนา ดำเนินการควบคุมกรอบกฎหมายระดับชาติทั่วทั้งประเทศสมาชิก และต้องปรับให้ทันสมัยสามารถไล่ทันเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองเด็กถูกแสวงหาประโยชน์ล่วงละเมิดทางเพศในสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบ

ทั้งสนับสนุนกระบวนการยุติธรรม “เป็นมิตรต่อผู้เสียหายที่เป็นเด็ก” ฉะนั้นแล้วสมาชิก 10 ประเทศ ต้องทำแผนกฎหมายที่มีอยู่นำมาเปรียบเทียบความต่าง แล้วปรับให้สอดรับร่วมกัน เช่น “ประเทศไทย” ผู้ครอบครองสื่อลามกเป็นความผิด แห่งเดียวในอาเซียน ดังนั้นเราต้องผลักดันให้อีก 9 ประเทศ ออกกฎหมายนี้ด้วย

ทว่า สำหรับแนวทางปฏิรูปกำหนดเป็น 3 ระดับ คือ ระดับแรก...“การปฏิรูป กฎหมายเป็นกุญแจสำคัญคุ้มครองเด็ก” เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ตกเป็นเหยื่อต้องได้รับ การคุ้มครอง ระดับสอง... “เด็กตกเป็นเหยื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้” อย่างเช่นประเทศไทยสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ตั้งแต่ในคดีอาญา แต่ในหลายประเทศไม่มี

ระดับสาม...“ออกกฎหมายป้องกัน” ที่ไม่ใช่เฉพาะการจับกุมแต่ต้อง ป้องกันด้วยการกำหนดสิ่งที่ล่อแหลมให้เป็นความผิดโดยเฉพาะ “เนื้อหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก” ไม่ว่านำเสนอรูปแบบใดก็ตามอันมีเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องลักษณะกระตุ้นปลุกเร้าทางเพศ เพราะที่ผ่านมาเด็กถูกหลอกมีเพศสัมพันธ์ไลฟ์สดในกลุ่มลับเก็บค่าสมาชิก

สามารถสร้างได้เป็นกอบเป็นกำเพียงแค่จ่ายค่าตัวเด็ก 500 บาท “ยิ่งกว่านั้น สมาชิกในกลุ่มบางคนกลับบันทึกภาพไว้” กลายเป็นภาพนั้นวนเวียนในโลก ออนไลน์ถูกข่มขืนซ้ำๆ นอกจากนี้ การถ่ายทอดสดข่มขืนตุ๊กตายางอันเป็นการ สร้างจินตนาการให้คนดูต้องการเลียนแบบแล้วไปกระทำกับคนอื่นก็ควรถือเป็นความผิดด้วย

...

แนวปฏิบัติสุดท้าย “เขตอำนาจศาลนอกอาณาเขต” ด้วยคนร้ายไม่ว่า จะกระทำผิดประเทศใดในอาเซียนควรสามารถดำเนินคดีได้ แม้จะมิได้เกิดในประเทศเขตอำนาจศาลนั้นก็ตาม สำหรับประเทศไทยกำหนดไว้ใน ป.อาญา ม.4 ม.8 เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หาก 10 ประเทศในอาเซียนมีกฎหมายนี้ก็จะปิดช่องว่างให้คนทำผิดหลบหนีได้

ฉะนั้นเรื่องของความผิดการแสวงหาผลประโยชน์ และการล่วงละเมิด ทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ในอาเซียน “จำเป็นต้องปรับกฎหมายสอดคล้องกัน ทั้ง 10 ประเทศ” เพื่อให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันนำไปสู่ความร่วมมือครอบคลุม ทุกพื้นที่ในอาเซียน ทั้งยังสามารถขยายผลการลงโทษชาวต่างชาติเข้ามาทำผิด ในภูมิภาคนี้ได้ด้วย

ย้ำว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว” แต่การแก้กฎหมายให้ทัน สอดรับเป็นเรื่องยากที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทุกฝ่ายในอาเซียน เพื่อเด็กจะได้รับการคุ้มครองใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ และปลอดภัย “ไม่ตกเป็นเหยื่อถูกละเมิดทางเพศ” ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีก.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม