ตำรวจจับลุงเปี๊ยก วัย 56 ปี บังคับรับสารภาพคดีฆ่าเมียตัวเองให้กลายเป็นแพะรับบาปยังคงเขย่าวงการสีกากีที่สร้างความเคลือบแคลงใจให้ผู้คนในสังคมนำมาสู่ “ดีเอสไอ” รับเป็นคดีพิเศษเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำ ให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565

สะท้อนให้เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมยังมีอยู่ในสังคมไทยนำมาสู่ “คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์” จัดเวทีการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทยแบบทำน้อยได้มาก และเห็นผลเร็ว : กรณีศึกษาลุงเปี๊ยกโดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผอ.ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ บอกว่า

ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า “ลุงเปี๊ยก” ถูกถอดเสื้อในห้องแอร์นำถุงคลุมหัว ทรมานให้รับสารภาพฆ่าป้ากบนั้น “เกิดจากตำรวจไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ของประชาชน” ที่ขัดรัฐธรรมนูญ (รธน.) พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรค 2

อันมีเนื้อหาใจความว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนว่ากระทำความผิดไม่ได้” แต่ด้วยเรื่องนี้ตำรวจได้สันนิษฐานพิพากษาไปแล้วว่า “ลุงเปี๊ยกเป็นผู้ฆ่าป้ากบ” การสืบสวนจึงมุ่งกระทำทุกวิถีทางให้เกิดการรับสารภาพ

...

ทำให้การปฏิบัติหน้าที่นั้น “ไม่เคารพกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ทั้งการเข้าจับกุม หรือการสืบสวนผู้ต้องหา แล้วที่สำคัญ “ประเทศไทย” บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯมาตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค.2565 แต่ยังพบการทรมานให้รับสารภาพเกิดขึ้นนี้ เพราะตำรวจไม่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทํางาน

ถ้าวิเคราะห์กรณี “ลุงเปี๊ยกถูกควบคุมตัว” ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.2567 แล้วรุ่งขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. ก็ถูกนำตัวไปฝากขังต่อศาลส่งเข้าเรือนจำ จ.สระแก้ว และกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า “จับผิดตัวต้องนอนในเรือนจำ 2 คืน” ทำให้เห็นว่าตำรวจนำผู้ที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาว่ามีความผิดนำไปขังร่วมกับนักโทษเด็ดขาด

ลักษณะนี้เป็นการทำผิด รธน.ม.29 วรรค 2 ร้ายแรงหรือไม่ เพราะผู้ที่จะไปนอนในเรือนจำได้ “ศาลต้องพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดจริง” แล้วถ้ามาดู ม.29 วรรค 3 การคุมขังผู้ต้องหาให้ทําได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี ดังนั้น ผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่พิพากษาคดีควรควบคุมไว้เพื่อป้องกันมิให้หลบหนีที่อาจเป็นสถานที่อื่นได้

นอกจากนี้ สำหรับ “หมายขังผู้ต้องหา” แม้กฎหมายให้ “ศาล” เป็นผู้ตรวจสอบการขอหมายขัง แต่ที่ผ่านมามีการตั้งคำถามการตรวจสอบกรณีนำผู้ต้องหาไปขังไว้ในเรือนจำหรือไม่ ทั้งที่ตาม ม.29 วรรค 2 บอกว่า ก่อนมี คำพิพากษาอันถึงที่สุดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนว่ากระทำความผิดไม่ได้

ประการต่อมา “สตช.” ในแง่การใช้อำนาจในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ มีมาตรการป้องกันแต่ละสถานีตำรวจหรือไม่ เพื่อไม่ให้ตำรวจใช้อำนาจโดยมิชอบต่อการทรมานผู้ต้องหาให้ยอมรับสารภาพ เพราะการใช้ถุงดำคลุมหัวให้รับสารภาพนี้ควรต้องหมดไปตั้งแต่กรณีของผู้กำกับโจ้แล้วด้วยซ้ำ

แต่กลับพบ “การใช้ถุงดำคลุมหัวลุงเปี๊ยก” สะท้อนให้มาตรการแก้ไข และการป้องกันยังมีปัญหาละเมิด พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯ ทำให้มีคำถาม สตช. ดำเนินคดีกับตำรวจผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่

ด้วยเท่าที่ดูเหมือนว่า “จะมีการตั้งข้อกล่าวหาเพียงใช้อำนาจโดยมิชอบตาม ป.อ.ม.157” ดังนั้น เรื่องนี้ สตช.ไม่จัดการผู้ละเมิด พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน-อุ้มหายฯอย่างจริงจังอาจจะทำให้ผู้กระทำผิดไม่กลัวกฎหมาย “เพราะจะรู้สึกว่าทำผิดไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ในอนาคตจะเกิด การอุ้มหาย และทรมานต่อไปอีกเรื่อยๆ

ตอกย้ำกรณี “คดีลุงเปี๊ยก” ยังสะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญจากตำรวจ อัยการ ศาล และกรมราชทัณฑ์ต่างคนต่างทำงาน และไม่มีการประเมินผล ในกระบวนการยุติธรรม “ก่อให้เกิดคดีลักษณะคล้ายลุงเปี๊ยกเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในสังคมไทย” เหตุนี้อยากขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยทำน้อยได้มากแล้วเห็นผลเร็ว

ข้อแรก...“เปลี่ยนตำรวจให้มีแนวคิดยึดโยงประชาชน และเคารพกฎหมาย” โดยไม่ต้องปรับหลักสูตรการเรียนในโรงเรียนตำรวจด้วยการฝึกอบรมหลักสูตร Citizen Oriented ระยะสั้น 2 สัปดาห์ หรือ 2 เดือน

เพื่อพัฒนางานตำรวจในทุกมิติ “เป็นตำรวจของประชาชน” มีมาตรฐาน สากลยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง “มีประชาชนเป็นเป้าหมายในการบริการ” เพราะการไปปรับหลักสูตรในโรงเรียนตำรวจคงเป็นเรื่องยาก

...

ข้อที่สอง...“เปลี่ยนวิธีประเมินด้วยหลัก Citizen Oriented” เพราะเดิมยิ่งจับมากยิ่งบรรลุเป้าหมายสร้างผลงาน “มักเกิดการล่อซื้อ หรือจับผิดตัว” ส่วนหนึ่งเพราะระบบเอื้อให้ผู้ปฏิบัติตัวไม่ดีทำได้

ข้อสาม...“ปรับหลักเกณฑ์พิจารณาเลื่อนตำแหน่ง” ด้วยการนำหลัก Citizen Oriented และการลดอาชญากรรมในพื้นที่เป็นเป้าหมายประเมินความดี “เลื่อนตำแหน่ง” ตำรวจทุกสถานีก็จะปรับวิธีทำงานตามมาเอง แล้วต้องบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำการโดยมิชอบด้วย เพราะอยากให้กรณีลุงเปี๊ยกเป็นจุดเปลี่ยนเหตุการณ์สุดท้าย

ต่อมาข้อสี่...“ยกเลิกนำผู้ต้องหา และจำเลยขังคุก” ด้วยเรือนจำควร มีไว้ขังเฉพาะนักโทษเด็ดขาดตาม รธน.ม.29 วรรค 2 เพราะถ้าดูรายงานสถิติ ของกรมราชทัณฑ์ (1 ม.ค.2567) นักโทษอยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 276,000 คน มีจำนวนมากเป็นอันดับ 8 ของโลก หากคิดตามสัดส่วนประชากรกลับมาอยู่ในอันดับ 3-4 ของโลก

ในจำนวนทั้งหมดนั้น “มีผู้ต้องหาอยู่ในกระบวนการไต่สวนรอการ พิจารณาคดี 54,530 คน” สิ่งเหล่านี้กำลังกระทำการขัดต่อ รธน.หรือไม่ แล้วยิ่งมาดู ป.วิ.อาญา ม.89/1 ถ้าหากกรณีผู้ต้องขังร้องขอสามารถนำตัวไป คุมขังที่อื่นได้ “อันเป็นการเปิดช่องไว้” แต่ไม่รู้ว่ากฎกระทรวงประกาศหรือยังทำให้มาตรานี้ไม่อาจบังคับใช้ได้

...

ฉะนั้นขอเสนอตามที่ “กรมราชทัณฑ์ออกระเบียบว่าด้วยการดำเนินการ สำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขังฯ” มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยา เป็นประธานพิจารณานำผู้ต้องหารอการตัดสินคดีออกจากเรือนจำไปคุมขังภายนอกที่ไม่ใช่เรือนจำตามระเบียบใหม่ให้ทำได้ เพราะคนกลุ่มนี้ศาลยังไม่ได้พิจารณาตัดสินลงโทษ

สิ่งนี้จะสามารถลดผู้ต้องขังในเรือนจำลง 20% นอกจากนี้ยังมีผู้ต้องกักขัง ที่ต้องโทษแทนค่าปรับใช้อัตรา 500 บาท/วัน อันมีจำนวน 6,099 คน ก็ควรต้อง ถูกนำออกมาคุมขังนอกเรือนจำเช่นกัน ด้วยการขอเสนอแนวทางให้ใช้ตาม ป.อาญา ม.30/1 อันมีการแก้ไขไว้แล้วสำหรับผู้ต้องขังแทนค่าปรับสามารถยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น

เพื่อทำงานประโยชน์สาธารณะแทนค่าปรับทำได้เลยทันที “ด้วยตามตัวเลขคาดการณ์ผู้ถูกคุมขังแทนค่าปรับมี 2 หมื่นคน/ปี” แล้วนำคน กลุ่มนี้เข้าไปอยู่ในเรือนจำร่วมกับนักโทษเด็ดขาดคงไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่นอน

แล้วหากความปรากฏแก่ “ศาล” ในขณะที่พิพากษาคดีว่า “ผู้ต้องขัง แทนค่าปรับรายใด” อยู่ในเกณฑ์ที่จะทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณ ประโยชน์ตามมาตรานี้ได้ และถ้าผู้ต้องโทษปรับยินยอม “ศาล” จะมีคำสั่ง ให้ผู้นั้นทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้

...

สุดท้ายนี้ขอชวน “ปรับกระบวนการยุติธรรมไทย” ด้วยการใช้กลไก คณะกรรมการบูรณาการ ตรวจสอบ และประเมินผล ทั้งการลดผู้ต้องขังแทนค่าปรับให้ทำงานบริการสังคมได้ถ้าไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ และลดนักโทษกระทำผิดซ้ำกลับมาติดคุกใหม่ ด้วยระบบจัดหางาน มีกองทุนตั้งตัว ไม่มีดอกเบี้ย และมีระบบติดตาม

อีกทั้งลดกองทุนเงินประกันตัวแล้วนำมาสนับสนุน “ลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม” ทั้งแก้ไขการดำเนินคดีที่ล่าช้า รวมถึงต้องปรับเปลี่ยน KPI มาเป็นประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย และการกระทำผิดน้อยลง อันเป็นเป้าหมายของการทำงานในทุกส่วนงานของกระบวนการยุติธรรม

ทั้งหมดนี้คือ “การถอดบทเรียนกรณีศึกษาลุงเปี๊ยกตกเป็นแพะ” นำมาสู่ข้อเสนอ 4 แนวทางในการปรับหลักการปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมไทยแบบทำน้อยได้มาก และเห็นผลเร็วโดยไม่ต้องแก้โครงสร้าง แก้กฎหมาย และออกพระราชบัญญัติใหม่ แต่สามารถทำได้เลยทันที...

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม