ดีเอสไอรับคดีตำรวจจับแพะ “ลุงเปี๊ยก” เป็นคดีพิเศษ พบพยานหลักฐานเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เตรียมชงเรื่องผ่าน รมว.ยุติธรรมไปถึงนายกฯ ประสานอีก 3 หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมประชุมและเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกันเพื่อความโปร่งใส ยังไม่ปักธงว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดต้องรอดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน หากเกี่ยวข้องจริงต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ลงดาบเชือด ชี้โทษจำคุก 5-15 ปี

จากคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่กลายเป็นเรื่องฉาวโฉ่วงการสีกากี เหตุการณ์ 5 โจ๋ทรชนแก๊งลูกตำรวจรุมสังหารโหด น.ส.บัวผัน หรือป้ากบ ตันสุ อายุ 47 ปี พบศพในบ่อน้ำ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว แล้วนายปัญญา หรือลุงเปี๊ยก คงแสนคำ อายุ 56 ปี สามีผู้ตายตกเป็นแพะรับบาป ถูกตำรวจสายสืบใช้ถุงดำคลุมหัวให้ถอดเสื้อตากแอร์ขู่บังคับให้รับสารภาพว่าเป็นคนร้าย ตำรวจตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงพบว่าตำรวจ สภ.อรัญประเทศ 2 นายคือ พ.ต.ท.พิชิต วัฒโน รอง ผกก.สส. และ ด.ต.ภิเศก พวงมาลีประดับ หรือดาบเศก ผบ.หมู่ (สส.) ทำผิดวินัยตำรวจ และ ด.ต.ภิเศก ยังกระทำผิดกฎหมายอาญา ม.157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต่อมาญาติลุงเปี๊ยกเข้ายื่นเรื่องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้รับคดีจับแพะลุงเปี๊ยกเป็นคดีพิเศษ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ในฐานะโฆษกดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีดีเอสไอได้รับคดีลุงเปี๊ยกเป็นคดีพิเศษ ว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ในมาตรา 31 ระบุไว้ว่า หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนได้มีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมการปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุด อีกทั้งเมื่อไปดูรายละเอียดในมาตรา 31 วรรคสอง ระบุไว้ว่า หากกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับไว้ดำเนินการก็ให้เป็นคดีพิเศษ ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ดังนั้น กระบวนการที่จะต้องทำหลังจากนี้คือ ดีเอสไอจะต้องแจ้งการรับคดีพิเศษนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบและมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมตรวจสอบกับดีเอสไอ รวมถึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายครั้งแรก จึงมีความเห็นว่าควรเชิญหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานที่กล่าวเข้ามาร่วมประชุมและเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกัน ทั้งหมดนี้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยดีเอสไอจะเสนอเรื่องผ่าน รมว.ยุติธรรม จากนั้นจึงจะมีการสอบสวนร่วมกันทั้ง 4 หน่วยงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

...

พ.ต.ต.วรณันกล่าวต่อไปว่า ส่วนการที่ดีเอสไอส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำเบื้องต้นกับลุงเปี๊ยกถึงพฤติการณ์ของตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ในวันเกิดเหตุนั้น ในข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานพอสมควร มีเหตุที่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนได้ ส่วนรายละเอียดเชิงลึกขอละเว้นการเปิดเผยไว้ก่อน แม้ส่วนใหญ่จะเห็นได้จากสื่อสารมวลชนอยู่แล้ว ทั้งเรื่องคลิปวิดีโอ เป็นต้น จึงยังเร็วไปที่จะปักธงว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำความผิด เพราะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน อย่างไรก็ตามแม้ท้ายที่สุดจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริง กฎหมายก็ได้ระบุไว้ว่าให้พนักงานสอบสวนแจ้งไปยัง ป.ป.ช. เพื่อรับทราบและทำการสอบสวนต่อไป

สำหรับการดำเนินคดีหรืออัตราโทษ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โฆษกดีเอสไอเผยว่า มีทั้งโทษทางปกครองและอาญา ขึ้นอยู่กับว่าประพฤติผิดในรายมาตราใดของกฎหมายดังกล่าว เบื้องต้นมีโทษจำคุกที่ 5-15 ปี และต้องรอดูการรวบรวมข้อมูลของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของตำรวจด้วย ทั้งนี้ พฤติการณ์ทางคดีการเสียชีวิตของ น.ส.บัวผัน ตันสุ และคดีของลุงเปี๊ยกถือว่าแยกขาดจากกัน แต่สามารถใช้รายละเอียดในคดีประกอบการพิจารณาได้ หากมีความคืบหน้าอย่างไรจะรายงานให้สาธารณะได้รับทราบต่อไป และทั้ง 4 หน่วยงานจะนัดหมายประชุมในเรื่องลุงเปี๊ยกให้เร็วที่สุด

ที่สำนักงานอัยการจังหวัดสระแก้ว ช่วงสายวันเดียวกัน พนักงานสอบสวน สภ.อรัญประเทศ นำหนังสืออนุมัติศาลขอเบิกตัว ด.ช.โก๊ะ และ ด.ช.เชน อายุ 14 ปีเท่ากัน 2 ใน 5 เยาวชนที่ร่วมก่อเหตุสังหารป้ากบ ออกจากสถานพินิจฯ จ.จันทบุรี และสถานพินิจฯ จ.ระยอง มาส่งพนักงานอัยการเพื่อสอบสวนต่อหน้าสหวิชาชีพ หลังมีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ว่าถูก ด.ช.โก๊ะ และ ด.ช.เชน ร่วมกันข่มขืน ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มผู้ต้องหาทั้งสองร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา และขออนุมัติศาลเบิกตัวจากสถานพินิจฯมาส่งให้อัยการทำการสอบสวนต่อหน้าสหวิชาชีพ เบื้องต้นทั้งคู่ให้การรับสารภาพ

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่