"บิ๊กก้อง" ตั้งโต๊ะแจงคดี "กำนันนก" หลัง "ผบ.ตร." มีคำสั่งให้โอนคดีมาทำ เบื้องต้นยังไม่แจ้งข้อหาใคร คณะทำงานขอดูรายละเอียดให้ครบถ้วน รวมทั้งหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายให้ตกผลึกก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อยากด่วนสรุป ด้าน "ผู้การเต่า" ขอความเป็นธรรมให้ "ผกก.เบิ้ม" ช่วยเหลือคนเจ็บจริงๆ 

     

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 18 ก.ย. 66 ที่ กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รรท.ผบก.ทล., พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท., พ.ต.อ.เอนก เตาสุภาพ รอง ผบก.ป., พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รอง ผบก.ปปป. และเจ้าหน้าที่ชุดคลี่คลายคดี พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.กก.2 บก.ทล. ถูกยิงเสียชีวิตภายในบ้านของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก เพื่อติดตามความคืบหน้าทางคดีและวางกรอบแนวทางการทำงาน ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมซึ่งใช้เวลานานร่วม 3 ชั่วโมงนั้น 


พล.ต.ท.จิรภพ พร้อมคณะทำงานชุดคลี่คลายคดีก็ได้จัดแถลงชี้แจงรายละเอียดความคืบหน้าในคดีดังกล่าวว่า หลังเกิดเหตุตำรวจสอบสวนกลางได้ร่วมกันทำการสืบสวนกับทีมชุดคลี่คลายคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภูธรภาค 7 มาโดยตลอด ได้พยานหลักฐานพอที่จะทราบว่าใครทำอะไรในที่เกิดเหตุระดับหนึ่ง ปัจจุบันมีการรับโอนสำนวนคดีมาอยู่ในความรับผิดชอบแล้ว 2 คดี ประกอบด้วยคดีฆาตกรรม และความผิดตามมาตรา 157 ส่วนที่โอนสำนวนคดีมานั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล มีความซับซ้อน และ เป็นเหตุอุกฉกรรจ์ ซึ่งเป็นหน้างานของกองปราบ และ บช.ก.อยู่แล้ว ตำรวจท้องที่อาจทำงานแบบนี้ลำบาก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ จึงจำเป็นต้องให้ส่วนกลางทำเพื่อความโปร่งใส

...

 

   

ส่วนเรื่องการแจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในงานเลี้ยง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 นั้น ก่อนหน้ามีการแจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ให้การช่วยเหลือผู้กระทำผิดไปแล้ว 6 นาย เป็นความผิดชัดเจน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบให้แน่ชัด อาจต้องใช้เวลาสักระยะ แต่จะเร่งทำให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ต้องยึดหลักข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานเป็นที่ตั้ง เพราะกฎหมายมาตรา 157 มีคำนิยาม หรือมีเจตนาพิเศษ ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องหารือกันพอสมควร ว่าพฤติกรรมแค่ไหนถึงเรียกว่าผิด 157 อาทิ บางคนอาจพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล บางคนอาจโทร.แจ้ง 191 หรือบางคนอาจไม่ทำอะไรเลย ทั้งหมดนี้ต้องขอเวลาหารือกับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายให้ตกผลึกก่อน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ไม่อยากด่วนสรุป จนเมื่อใดที่ทราบข้อเท็จจริง หรือหาข้อยุติทางกฎหมายได้แล้ว จึงจะสามารถพิจารณาออกหมายจับต่อไป

     

“อย่างกรณีของ ผกก.รายหนึ่ง ซึ่งจังหวะแรกไม่มีการช่วย ก่อนที่จังหวะสองจะมาโผล่ที่ รพ. แต่การจะตัดสินว่าเป็นความผิดมาตรา 157 หรือไม่ ต้องขอดูรายละเอียดอีกให้แน่ชัดก่อน ส่วนกรณีของ ร.ต.อ.จตุรวิทย์ ชวาลเกียรติธนา รอง สวป.สภ.เมืองนครปฐม หนึ่งในผู้ที่ช่วยประคองคนเจ็บ ก่อนต่อมาจะปรากฏภาพว่าหลังเกิดเหตุได้ไปขับรถนำขบวนคุ้มกันให้กับ กำนันนก นั้นต้องแยกเป็นสองส่วน ในส่วนช่วยก็ถือว่าดี แต่ส่วนที่ไปช่วยผู้ต้องหาก็ต้องถือว่าผิด ทั้งนี้ยืนยันไม่มีช่วยเหลือใคร ไม่ว่าจะยศใด หากผิดดำเนินการเต็มที่ ไม่มีละเว้น แต่ต้องบอกก่อนว่าการทำงานของเราอาจไม่ทันใจผู้ชม เพราะอยากตรวจสอบให้ครบทุกด้านทุกมิติ 

     

ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิดพื้นที่เกิดเหตุมีทั้งหมด 15 ตัว พร้อมเซิร์ฟเวอร์ 1 ตัว เสีย 2 ตัว และอีกตัวหนึ่งเป็นกล้องตรงจุดเกิดเหตุ หยุดบันทึกไปตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. ก่อนจะเกิดเหตุ ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด ส่วนกล้องที่เหลือทั้งหมดตนได้ดูบางส่วนบ้างแล้ว แต่เนื่องจากรายละเอียดมีค่อนข้างเยอะมาก จึงต้องขอเวลาในการพิจารณาอย่างละเอียดให้ครบทั้งหมดก่อน 

    

"ถึงแม้ว่าจะไม่มีภาพเหตุการณ์บันทึกภาพขณะเกิดเหตุได้ ก็ไม่ได้หนักใจแต่อย่างใด เพราะมีพยานหลักฐานอื่นๆ เช่น คำให้การ พยานบุคคล พยานแวดล้อม มูลเหตุจูงใจ และอื่นๆ อีกมากมาย เพียงพอที่จะดำเนินคดีกำนันนกให้ถึงที่สุดได้ ส่วนข้อสงสัยที่กระแสสังคมเชื่อว่ามีการเตรียมการลวงผู้ตายมาก่อเหตุนั้น จากข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่เชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้"

 

...

   

ผบช.ก. กล่าวต่ออีกว่า ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อจากนี้ เบื้องต้นวางกรอบการทำงานออกเป็น 3 สเตป คือ 1.การขยายผลแก๊งคนร้าย เส้นทางการเงิน ข้อมูลออนไลน์ และสิ่งผิดกฎหมาย 2.ดูเรื่องการฮั้วประมูล เพื่อพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าเพราะเหตุใดทำไมกำนันนกถึงชนะการประมูลได้รับงานโครงการต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งในส่วนนี้เราพบความผิดปกติหลายอย่าง อาทิ ชนะการประมูลงานมากกว่าร้อยละ 80 และอื่นๆ อีกมากมาย และ 3.เร่งปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งเราจะไม่ใช่แค่ระดมกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายแล้วเลิก แต่จะต้องตัดวงจรทั้งเครือข่าย ยึดทรัพย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่กองปราบทำมาโดยตลอด 

   

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการประสานงานร่วมกับทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในคดีนี้ด้วยหรือไม่นั้น พล.ต.ท.จิรภพ กล่าวว่า ยินดี และพร้อมที่จะประสานงานร่วมกัน อย่างที่บอกพร้อมร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ขอให้ยึดข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาเป็นหลัก ดำเนินการเป็นไปในสิ่งที่ควรจะเป็นก็พอ 

  

 

...

ด้าน พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการพิจารณาความผิด มาตรา 157 ในส่วนนี้ต้องให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เน้นที่ข้อเท็จจริง ซึ่งต้องมาไล่ตามไทม์ไลน์ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง จึงจะเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เช่นในกรณีของ พ.ต.อ.วชิรา หรือผู้กำกับเบิ้ม นั้นอยากวิงวอนในส่วนนี้ว่าคนที่เสียชีวิตไปแล้วไม่สามารถออกมาพูดชี้แจงอะไรได้ ส่วนตัวขอความเป็นธรรมให้ผู้กำกับเบิ้มด้วย เนื่องจากคนตายไปแล้วไม่สามารถพูดอะไรได้ แต่จากการที่ตนลงไปดูที่เกิดเหตุตั้งแต่ต้น เจอกับ พ.ต.อ.วชิรา สภาพมือและแขนเสื้อยังเปื้อนเลือดอยู่ จากการสอบถามพยานต่างให้การตรงกันว่าหลังจากเกิดเหตุยิงสารวัตรศิว ผู้กำกับเบิ้ม ไม่ได้หนีไปไหน แต่เข้าไปช่วยประคองสารวัตรศิว จากนั้นได้สั่งลูกนัอง 3 คนไปคอยอุ้มร่างสารวัตรศิวขึ้นรถส่งไปโรงพยาบาล จากนั้น พ.ต.อ.วชิรา ได้กลับมาช่วย พ.ต.ท.วศิน อีกคนที่ถูกยิง ขึ้นรถกระบะ จนมีภาพ พ.ต.อ.วชิรา ไปปรากฏอยู่ที่โรงพยาบาล ลงจากรถกระบะเข้าไปในห้องฉุกเฉิน ตรงนี้เราต้องนำมาเข้าการพิจารณาว่ามันเข้า 157 หรือเปล่า คนที่ตายไปแล้วถือว่าทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว รวมทั้งรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ต้องขอความเป็นธรรมให้ผู้กำกับเบิ้มด้วย.