ศาลอาญาทุจริตฯ พิพากษาจำคุก "สุนี สมมี" อดีตนายก อบจ.ลำปาง 116 ปี ขณะที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอดีต ผอ.คลัง เทศบาลชื่อดังอมเงินภาษี 7 ปี กว่า 5.5 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 สำนักงานป้องกันและปราบปรามทุจริตภาค 5 แถลงผลการดำเนินงานของ ป.ป.ช.ภาค 5 และ ป.ป.ช.ประจำ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประจำเดือนกันยายน 2566 โดยมีคดีทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัย และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหารวม 12 คดี โดยมีคดีสำคัญเป็นคดีทุจริตโครงการจ้างเหมาขุดลอกลำน้ำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปางปีงบประมาณ 2549 และ 2550 จำนวน 29 โครงการ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญาและทางวินัยผู้ถูกกล่าวหารวม 9 ราย เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2564
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทั้ง 9 คนเป็นจำเลย ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 พิพากษาให้ นางสุนี สมมี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งหมด 29 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 116 ปี แต่ให้คงจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ส่วนจำเลยที่เหลือ มีทั้งอดีตผู้อำนวยการกองกิจการสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง จำคุก 8 ปี 8 เดือน 80 วัน และทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยองมีคำสั่งไล่ออกจากราชการ ขณะดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นอกจากนี้ยังมีข้าราชการในระดับปฏิบัติงานถูกสั่งจำคุกลดหลั่นกันไป
นายสุชาติ กรวยกิตานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 5 เปิดเผยถึงคดีนี้ว่า จำเลยได้ร่วมกันจัดหาบุคคลที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป ให้ไปจดทะเบียนพาณิชย์ที่สำนักปลัด อบจ.ลำปาง ให้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างและขุดลอกลำน้ำ จากนั้นได้ให้ไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาลำปาง และให้ลงลายมือชื่อในใบถอนเงิน ซึ่งจำเลยจะเก็บเอกสารทะเบียนพาณิชย์ บัญชีเงินฝาก ใบถอนเงิน และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ไว้ และนำไปใช้ในการเสนอราคาโครงการขุดลอกลำน้ำ 29 โครงการ
...
นอกจากนี้จำเลยยังร่วมกันปกปิดข่าวสอบราคาโครงการจ้างเหมาขุดลอกลำน้ำในทุกช่องทาง และดำเนินการเปิดซองเสนอราคาอันเป็นเท็จ โดยจำเลยมีการจัดทำเอกสารเสนอราคาโครงการละ 3 ราย เสมือนมีการแข่งขันยื่นเสนอราคา แต่ละโครงการมีการลงนามย้อนหลังอันเป็นเท็จ และยังมีการปลอมลายมือชื่อกรรมการเปิดซองสอบราคาบางราย เพื่อเป็นเอกสารในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ
หลังจากนั้นได้ให้ผู้รับเหมาที่ว่าจ้างจริงไปลงมือดำเนินการแต่ละโครงการ เมื่อถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายค่าจ้างทั้ง 29 โครงการ กลุ่มจำเลยได้นำเช็คที่ อบจ.ลำปาง ออกให้ ไปขึ้นเงินธนาคาร โดยว่าจ้างให้กลุ่มลูกจ้าง อบจ.และลูกจ้างเอกชนไปถอนเงินแทนแล้วกลุ่มจำเลยได้นำเงินสดโครงการละประมาณ 1.7-1.9 ล้านบาท มาแบ่งส่วนกันที่ห้องทำงานของ นางสุนี สมมี นายก อบจ.ลำปาง (ในขณะนั้น) โดยแบ่งจ่ายให้กับผู้รับเหมาที่ทำงานจริงร้อยละ 60 ของวงเงินตามสัญญาจ้าง ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 นำมาแบ่งกันในกลุ่มจำเลย
ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 5 เปิดเผยว่า คดีนี้ประมาณมูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท แต่คดียังไม่สิ้นสุด โดยเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และเชื่อว่าจำเลยจะใช้สิทธิการอุทธรณ์คดีตามกระบวนการทางกฎหมาย
นอกจากคดีนี้แล้วยังมีอีกคดีที่น่าสนใจ เป็นคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีมติว่า นางศิริพรรณ อินต๊ะ อดีตผู้อำนวยการกองคลัง เทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีเบียดบังเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินของเทศบาลตำบลหนองป่าครั่งไปเป็นของตนเองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2560
โดยการไต่สวนทราบว่า นางศิริพรรณ อินต๊ะ ขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคลังเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง ได้ไปติดต่อกับบริษัทเอกชน 3 แห่ง แจ้งให้ชำระภาษีเป็นเงินสด หรือเช็คผู้ถือ และได้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสามรายไว้เป็นหลักฐานการชำระเงินของเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง และผู้ถูกกล่าวหาได้ทำการปลอมลายมือชื่อของหัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้ โดยมิได้นำส่งเงินดังกล่าวเป็นรายได้ของเทศบาลตำบลหนองป่าครั่ง กลับอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่รับชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินจัดเก็บรายได้ ในฐานะผู้รับเงินลงในใบเสร็จรับเงิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2560 รวมทั้งสิ้น 53 ครั้ง เป็นเงิน 5,526,207.85 บาท
...
คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาล ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับ นางศิริพรรณ อินต๊ะ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) ต่อมาอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 และอยู่ระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้ การชี้มูลความผิดทางอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุด.