กาฬสินธุ์ แก๊งมอดไม้เหิมไม่เลิก ลอบตัดพะยูงในโรงเรียน อ้างเฉยตัดปัญหาคนร้ายลักลอบเข้ามาตัด เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับครูและนักเรียน ผงะ หลักฐาน เอกสารขั้นตอนข้อตกลงซื้อขาย หาเงินเข้าแผ่นดิน 3 ต้น ใบเสร็จแค่ 30,000 บาท 

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณภายในโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ หลังได้รับแจ้งจากภาคประชาชนในพื้นที่ ว่า ที่โรงเรียนแห่งนี้ก็มีการตัดไม้พะยูงด้วยวิธีประมูลขายนำเงินเข้าแผ่นดิน จำนวน 3 ต้น ขายให้กับพ่อค้าในราคา 30,000 บาท เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2566 คล้ายกับปัญหาที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี และโรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ โดยระบุสาเหตุว่า มีแก๊งมอดไม้ออกตระเวนเข้าไปลักลอบตัดไม้พะยูงในโรงเรียนและที่สาธารณะ โดยได้นำปัญหาเข้าปรึกษาหารือกับ ผอ.สพป.เขต 2 กาฬสินธุ์ ที่แนะนำให้ตัดขายเพื่อตัดปัญหาการลักลอบ เพราะเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับครูและนักเรียน โดยกล่าวอ้างว่า สาเหตุที่ตัดไม้พะยูงในโรงเรียน สืบเนื่องจากมีแก๊งมอดไม้เข้ามาลักลอบตัดไปตั้งแต่ปี 2558 จำนวนหลายครั้งด้วยกัน ครั้งล่าสุดมอดไม้มาลักตัดไม้พะยูงในช่วงเดือนมกราคม 2566 และได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.ห้วยเม็ก และได้รายงานไปยังต้นสังกัดมาโดยตลอด

...

ครูประจำโรงเรียน เล่าว่า เมื่อมีการลักลอบตัดถึงปี 2566 ทางโรงเรียนได้ทำหนังสือรายงานไปถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 หรือ ผอ.สพป.เขต 2 โดยหลังจากรายงานการลักลอบตัด ทาง สพป.สั่งให้ทางโรงเรียนสืบสวนข้อเท็จจริง แล้วรายงาน สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ทราบ โดยทางโรงเรียนก็ได้ดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว แต่ปรากฏว่าได้รับแจ้งจาก สพป.กาฬสินธุ์ บอกว่าข้อมูลยังไม่เพียงพอ พร้อมกับมีคำแนะนำว่า หากปล่อยให้มีการตัดต้นไม้พะยูงอีก ก็จะถูกสอบวินัย ทางโรงเรียนมีครูผู้หญิงเพียง 2 คน จึงเกรงจะเกิดอันตรายและเกรงจะถูกสอบวินัย จึงได้เข้าไปปรึกษา สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เนื่องจากเกรงจะได้รับอันตรายจากบุคคลที่มาลักลอบตัด 

ทั้งนี้ สพป.กาฬสินธุ์ แนะนำให้ดำเนินการตัดไม้พะยูงขาย โดยให้ทำตามเอกสารตัวอย่างโรงเรียนหลายแห่งที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ และยืนยันกับทางโรงเรียนว่าถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด จากนั้นวันที่ 31 มกราคม 2566 ทางโรงเรียนได้ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขอมติอนุมัติตัดต้นไม้พะยูง ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนส่งหนังสือเรียนธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้พะยูงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้แผ่นดิน 

ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 โรงเรียนส่งหนังสือเรียน ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้พะยูงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้แผ่นดิน จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์เข้ามาประเมินต้นไม้พะยูง โดยครูยืนยันไม่มีความรู้เกี่ยวกับไม้พะยูง เพียงทำตามคำแนะนำของ สพป.กาฬสินธุ์ ซึ่งการดำเนินการประเมินราคาก็เกิดขึ้นระหว่าง สพป.กาฬสินธุ์-ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และดำเนินการออกใบเสร็จตาม สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และมีนายหน้าเข้ามาตัดต้นไม้พะยูง ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ในช่วงกลางวัน โดยเอกสารการประเมินราคา การอนุญาต และได้นำใบเสร็จจ่ายเงิน 3 ต้น จำนวนเงิน 30,000 บาท อยู่ในวันเดียวกัน.