สาเหตุยังไม่ชัด "สนามบินดอนเมือง" ดึง วสท.ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง "ทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสารขาด" สั่งหยุดใช้งานชั่วคราวทางเลื่อนทั้ง 20 ตัว เผยติดตั้งมาตั้งแต่ปี 39 ใช้มาแล้วประมาณ 27 ปี ตรวจเช็กทั้งรายวัน รายเดือน ราย 3 เดือน และรายปี ไม่พบมีการชำรุด จนกระทั่งเกิดเหตุ ขณะที่กล้องวงจรปิดใกล้จุดเกิดเหตุ 3 ตัว ดันไปจับภาพมุมอื่น

ความคืบหน้าอุบัติเหตุทางเลื่อน สนามบินดอนเมือง เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมือง นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง และนายชยาศิส บำรุงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายไฟฟ้าและเครื่องกล ร่วมกันตั้งโต๊ะแถลงข่าวถึงกรณีผู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุบนปลายทางเลื่อน ขณะกำลังจะเดินทางไปยัง จ.นครศรีธรรมราช เพียงลำพัง

ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงเวลา 08.27 น. เกิดเหตุ น.ส.สุพรรณี กิตติรัตนา อายุ 57 ปี ประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่ปลายทางเลื่อน ระหว่าง South Corridor ระหว่าง Pier 4 – Pier 5 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ทำให้ขาซ้ายตั้งแต่เหนือหัวเข่าลงไป ติดอยู่ในทางเลื่อนถึงขั้นขาขาด เบื้องต้นรีบนำตัวผู้โดยสารส่ง รพ.ภูมิพล ทันที แต่ผู้โดยสารมีความประสงค์ จะไปรักษาตัวที่ รพ.บำรุงราษฎร์ เบื้องต้นทีมแพทย์ชุดแรกของ รพ.ภูมิพล แจ้งว่า “ขาไม่สามารถต่อได้” และผู้ป่วยเสียเลือดมาก จึงให้เลือดก่อน แต่แพทย์ชุดที่สองของ รพ.บำรุงราษฎร์ ยืนยันว่า จะพยายามรักษาอย่างเต็มที่ เบื้องต้นจากการดูแลสภาพจิตใจของผู้โดยสาร พบว่าผู้โดยสารค่อนข้างเข้มแข็ง 

นายการันต์ เผยอีกว่า ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างสืบสวนหาข้อเท็จจริง และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความชัดเจนให้มากที่สุด โดยจะใช้ทีมงานชุดนอกร่วมตรวจสอบด้วย คือ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ร่วมตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและปลอดภัยว่าอุปกรณ์ตัวนี้เกิดความผิดพลาดจากอะไร 

...

เบื้องต้น อุปกรณ์ทางเลื่อนมีการตรวจเช็กทั้งรายวัน รายเดือน ราย 3 เดือน และรายปี โดยบริษัทต้นทางที่ทำการติดตั้ง คือ “ฮิตาชิเจแปน” ซึ่งมีบริษัท “สยามฮิตาชิ” เป็นผู้ตรวจเช็กซ่อมบำรุง เป็นการบริการหลังการขายของประเทศญี่ปุ่นโดยตรง จึงมีความเชี่ยวชาญและตรวจเช็กอย่างรอบด้าน ยืนยันว่า ทางเลื่อนสามารถใช้งานได้ หากมีการตรวจเช็กบำรุงตามรอบ และเปลี่ยนอะไหล่ หลังเกิดเหตุทางฮิตาชิเจแปน ได้เข้ามาตรวจสอบที่เกิดเหตุแล้ว

นายการันต์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับทางเลื่อนถูกติดตั้งใช้งานมาตั้งแต่ 2539 หรือประมาณ 27 ปีแล้ว เท่าที่ตรวจสอบสภาพอุปกรณ์ รวมถึงหวี ไม่มีการชำรุดเลยก่อนเกิดเหตุ เพราะฉะนั้นจะต้องมีการสืบสวนให้ละเอียดก่อน เบื้องต้นตรวจสอบครั้งล่าสุด คือ วันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ตามปกติแล้วถ้ารองหวีหักติดกันสองซี่ จะมีการเปลี่ยนทันที แต่จากภาพที่ปรากฏในสื่อที่เห็นว่ามีร่องหวีหักหลายซี่ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด

ขณะที่ภาพวงจรปิดที่เกิดเหตุได้ตรวจสอบแล้ว แต่เบื้องต้นเป็นภาพระยะไกล ต้องขอดูรายละเอียด และสืบสวนก่อนว่าเกิดจากอะไรกันแน่ ยังไม่สามารถตอบได้ว่า มีการสะดุดของผู้โดยสาร หรือการสะดุดของตัวสายพานทางเลื่อน แต่จากตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พบล้อของกระเป๋าของผู้โดยสารติดอยู่ใต้ทางเลื่อนถึง 2 ล้อ และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

สำหรับทางเลื่อนมีทั้งหมด 20 ตัว เป็นของใหม่ 6 ตัว และเป็นของเก่า 14 ตัว ขณะนี้ได้ยุติการใช้งานชั่วคราวแล้ว ซึ่งทางเลื่อนนี้ไม่ได้มีเซนเซอร์รุ่นใหม่เหมือนกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเทคนิคในเรื่องอุปกรณ์เซฟตี้ จะเป็นการเช็กความตึงของโซ่ ถ้ามีอะไรไปขืน ตัวเซฟตี้จะตัดการทำงานทันที ต่างกับแบบใหม่ที่ตัวเซนเซอร์ใต้หวี หากมีอะไรมากระทบ เซนเซอร์ก็จะตัดทันที แต่ขณะเกิดเหตุเซนเซอร์ตัวนี้ ทำงาน แต่ทำงานช้า จึงต้องกลับไปตรวจสอบก่อนว่าเพราะอะไร

เมื่อถามถึงประเด็นทางเลื่อนจุดนี้คล้ายกับที่เกิดเหตุเมื่อปี 2562 หรือไม่ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ระบุว่า เหตุการณ์นั้นเป็นบันไดเลื่อน ไม่ใช่ทางเลื่อน

อย่างไรก็ตาม เดิมทีทางท่าอากาศยานดอนเมือง มีแผนที่จะเปลี่ยนทางเลื่อนในปีงบประมาณ 2568 แต่เมื่อเหตุเกิดแบบนี้ จะต้องของบฉุกเฉิน เป็นงบประมาณเร่งด่วนในปี 2567 เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

ส่วนหลังจากเกิดเหตุได้มีการพูดคุยและสอบถามกับตัวผู้โดยสารแล้ว แต่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้ เพราะผู้โดยสารยังอยู่ในสภาวะที่ยังไม่พร้อมให้ข้อมูล แต่ทางท่าอากาศยานดอนเมืองได้พูดคุยกับญาติและจัดผู้ประสานงานใกล้ชิดตลอดเวลา รวมถึงดูแลค่ารักษาพยาบาลอย่างดีที่สุด

นายการันต์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของมาตรการในการดูแลและเยียวยาผู้โดยสารหลังจากนี้ จะขอพิจารณาก่อนว่าจะชดเชยได้เท่าไหร่ แต่เบื้องต้นที่ได้พูดคุยกับญาติยังไม่มีท่าทีเรียกร้องอะไร หลังจากนี้ทางท่าอากาศยานดอนเมืองจะกลับไปทบทวนให้รัดกุมมากขึ้น และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งหลังเกิดเหตุนี้ โดยยืนยันว่าจะช่วยเหลือค่าพยาบาลและชดเชยให้กับผู้โดยสารอย่างถึงที่สุด และขอให้เชื่อมั่นทางท่าอากาศยานดอนเมือง อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้นและแก้ไขให้ดีที่สุด จะไม่ทำให้มีเหตุการณ์อุบัติเหตุเป็นครั้งที่ 2

ทั้งนี้มีรายงานว่ากล้องวงจรปิดบริเวณใกล้จุดเกิดเหตุมีสามตัว คือ จุดเริ่มต้น จุดกลาง และจุดสุดทางเลื่อน แต่ปรากฏว่ากล้องหมุนไปจับภาพมุมอื่น และหันมาอีกทีตอนที่ผู้โดยสารหญิงล้มลงไปแล้ว