ตำรวจไซเบอร์ เตือนศึกษาตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อสินค้าออนไลน์ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต กรณีอินฟลูฯ และบิวตี้บล็อกเกอร์ดังรีวิวแผ่นแปะลดน้ำหนักอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง วอนให้ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แนะนำศึกษาข้อมูล และตรวจสอบให้รอบด้าน ดังนี้

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ กรณีอินฟลูเอนเซอร์และบิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการโฆษณาขายแผ่นแปะลดน้ำหนัก พร้อมรูปภาพผู้ใช้สินค้าซึ่งมีรูปร่างผอมเกินความเป็นจริง มีการอวดอ้างว่าน้ำหนักลดเร็วมาก ให้กับประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในราคาถูก โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากนั้น ที่ผ่านมาพบว่าภัยจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า หรือซื้อสินค้าแต่ได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ไปจนถึงการใช้หลักฐานการโอนเงินปลอมเพื่อหลอกลวงผู้ขายสินค้า รวมไปถึงการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง นอกจากนี้แล้วสินค้าบางชนิดอาจจะทำให้ผู้ที่สั่งซื้อไปใช้งานเกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรืออาจเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

เบื้องต้นจากการตรวจสอบได้มีการลบโพสต์การประกาศขายสินค้าดังกล่าวแล้ว การกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อาญา มาตรา 343 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ตาม พ.ร.บ.อาหาร มาตรา 40 จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, โฆษณาอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1)” จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

...

ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การซื้อสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะนอกจากจะเสี่ยงถูกมิจฉาชีพหลอกลวงสูญเสียทรัพย์สินแล้ว สินค้าบางชนิดที่สั่งซื้อมาหากนำมาใช้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มักโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และฝากไปยังผู้มีชื่อเสียง หรือผู้รับรีวิวสินค้า หากไม่ได้ใช้งานจริงก็ควรระบุให้ชัดเจนให้ผู้ใช้นำไปประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ ยังคงมีผู้เสียหายมากเป็นอันดับที่ 1 จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ 1 มี.ค.65 - 14 พ.ค.66 พบว่ามีจำนวน 94,712 เรื่อง คิดเป็น 36.66% ของการหลอกลวงทั้งหมด

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรซื้อจากร้านค้าที่เป็นทางการเท่านั้น
2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าราคาถูก จำไว้ว่าของฟรีไม่มีในโลก ของถูกต้องถูกอย่างมีเหตุผล
3.ระมัดระวังการโฆษณาสินค้ากล่าวอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยในส่วนของผู้ที่จะรับงานรีวิวสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดสินค้าให้ดีเสียก่อน
4.ผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าบางชนิดจะต้องมีเครื่องหมาย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคทราบว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ผ่านการพิจารณาด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความปลอดภัยแล้ว ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อนเพื่อป้องกันอันตรายที่จะตามมา
5.การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจำเป็นอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยผลิตภัณฑ์จำนวนมากมักโฆษณาว่ามีเลข อย. แต่ไม่ได้ระบุเลขที่อนุญาตโฆษณาด้วย
6.ตรวจสอบการอนุญาตได้ที่ เว็บไซต์ของ อย.
7.ตรวจสอบการรีวิวสินค้า ผู้ที่เคยสั่งซื้อได้รับสินค้าหรือไม่ คุณภาพสินค้าเป็นอย่างไร รวมถึงขอดูภาพสินค้าหลายๆ มุม สอบถามรายละเอียดสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
8.หากต้องการลดน้ำหนัก ควรใช้วิธีที่ปลอดภัย เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น
9.ก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน ตัวตนของผู้ขาย และหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์ Google, Blacklistseller, chaladohn เป็นต้น.