โฆษกตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีมาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แนะใช้สติป้องกันสตางค์ ไม่เชื่อ-ไม่ตกใจ-ไม่โอน-ไม่ให้ข้อมูล
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เตือนภัยมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลอกลวงให้ประชาชนโอนมาตรวจสอบ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ดังนี้
ในปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้สร้างความเสียหาย และความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ซึ่งเป็นกลุ่มมิจฉาชีพที่มีรูปแบบการทำงานเป็นทีม หรือเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน หลอกลวงเหยื่อโดยการใช้ความกลัว ความโลภ และความไม่รู้ของประชาชนเป็นเครื่องมือ โดยที่ผ่านมาพบว่ามีหลากหลายรูปแบบ เช่น การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่บริษัทขนส่งสินค้า แจ้งไปยังผู้เสียหายว่าบัญชีธนาคาร หรือพัสดุที่ส่งไปต่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือบัญชีธนาคารของคุณถูกอายัด เป็นหนี้บัตรเครดิต เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด การฟอกเงิน มีคดีความ หรือหลอกลวงว่าได้เช็คเงินคืนภาษี หรือหลอกถามข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปปลอมแปลงในการทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม เป็นต้น
ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน บช.สอท. ได้รับแจ้งความร้องทุกข์จากผู้เสียหายหลายรายว่าถูกมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สังกัดสถานีตำรวจภูธรแห่งหนึ่ง สร้างความน่าเชื่อถือโดยการแจ้งข้อมูลผู้เสียหาย ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ ได้อย่างถูกต้อง จากนั้นจะให้ผู้เสียหายทำการแอดไลน์เพิ่มเพื่อนกับสถานีตำรวจปลอมดังกล่าว แล้วทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวโดยแจ้งว่า ผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในคดีต่างๆ พร้อมส่งภาพการจับกุมผู้ต้องหา ภาพบัญชีธนาคารคารของกลาง และเอกสารคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมของสำนักงาน ปปง. เรื่องการส่งทรัพย์สินเข้าตรวจสอบฯ หรือเอกสารราชการอื่นๆ เช่น หมายเรียก หมายจับ ที่มีชื่อของผู้เสียหาย เป็นต้น รวมไปถึงการเพิ่มความน่าเชื่อถือโดยการใช้ไลน์วิดีโอคอลมายังผู้เสียหาย สวมเครื่องแบบเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ แสดงบัตรประจำตัวข้าราชการ และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนอยู่ที่สถานีตำรวจจริง ต่อมามิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายโอนเงินที่มีอยู่ในบัญชีมาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เพื่อตรวจสอบว่ามีความเกี่ยวข้องหรือไม่ กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปยังบัญชีที่มิจฉาชีพเตรียมไว้ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
...
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ได้โทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักใช้คือการสร้างความน่าเชื่อถือ ใช้จิตวิทยา เล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคน มีการเขียนบทสนทนาเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตามหลงเชื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ IVR (Interactive Voice Response) หรือเทคโนโลยี Deepfake เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์หมายเลขที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมายเลขที่โทรมาจากต่างประเทศ ปัจจุบันจะมีเครื่องหมาย+697 ให้ท่านตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก หลงเชื่อง่ายๆ และอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลเลขบัตรต่างๆ รหัสใช้ครั้งเดียว หรือ One Time Password (OTP) กับผู้ใดโดยเด็ดขาด
พร้อมขอประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันภัยจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนี้
1. ไม่มีนโยบายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะต้องโทรศัพท์ไปยังประชาชน เพื่อแสดงเอกสาร กล่าวอ้างว่าท่านกระทำความผิด หรือมีส่วนในการกระทำความผิด หากพบการกระทำดังกล่าว สันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพแน่นอน
2. ไม่ตกใจ ไม่เชื่อเรื่องราวต่างๆ วางสายการสนทนาดังกล่าว ตรวจสอบก่อนโดยการโทรศัพท์ไปสอบถามหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
3. ไม่โอนเงิน หากมีคำพูดว่าให้โอนเงินมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม นั่นคือมิจฉาชีพแน่นอน
4. ไม่กดลิงก์ ติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน เพราะอาจจะเป็นการหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมเครื่องระยะไกล หรือโปรแกรมที่ฝังมัลแวร์ดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ
5. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินกับผู้ใดทั้งนั้น เช่น เลขบัตรประชาชน รหัสหลังบัตร รหัส OTP เป็นต้น
6. ท่านสามารถบล็อกสายเรียกเข้าที่มาจากต่างประเทศได้ ด้วยการกด *138*1# แล้วโทรออก
...
7. ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whos Call เพื่อแจ้งเตือนระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก ป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่อาจโทรศัพท์มาหลอกลวง
8. ดูแล แจ้งเตือน ผู้สูงอายุ บุคคลใกล้ตัว เพื่อลดโอกาสในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ทั้งนี้หากพบเบาะแสการกระทำผิด สามารถติดต่อไปยังสายด่วนตำรวจไซเบอร์ หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 ตลอด 24 ชม. และแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com หรือเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุโดยตรง.