อาคารพาณิชย์ 4 ชั้น โครงการหรูกลางกรุง กำลังก่อสร้าง พังถล่มระทึก คนงานเมียนมาบาดเจ็บ 5 ราย ผบช.น.เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เชิญวิศวกรผู้ควบคุมงาน สอบปากคำที่ สน.มักกะสัน

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 ร.ต.อ.ธนวัฒน์ วิภาโตทัย รอง สว.(สอบสวน) สน.มักกะสัน รับแจ้งเหตุอาคารกำลังก่อสร้างถล่มทับคนงานบาดเจ็บ เหตุเกิดที่อาคารอยู่ระหว่างการก่อสร้างไม่มีชื่อ ซอยวัดอุทัยธาราม ถนนกำแพงเพชร 7 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กทม. รุดไปตรวจสอบพร้อม พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พ.ต.อ.จรินทร์ ลำลึก ผกก.สน.มักกะสัน, เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางกะปิ), อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและอุปกรณ์เครื่องตัดถ่าง

ที่เกิดเหตุพบเป็นอาคารพาณิชย์ หลังที่ 5 ความสูง 4 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) 3 คูหา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง พบพื้นและคานปูนบริเวณชั้นที่ 4 และชั้น 3 ถล่มลงมาอยู่ที่ชั้น 2 ของตัวอาคาร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและค้นหาผู้ติดค้างตามซากปรักหักพังก่อนช่วยเหลือคนงานชาวเมียนมาได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ชาย 1 หญิง 2 มีบาดแผลแตกที่ศีรษะและแผลถลอกตามตัว นอกจากนี้ยังมีหญิงคนงานชาวเมียนมา 2 ราย เป็นลมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำส่งโรงพยาบาลเพชรเวชทั้ง 5 ราย

จากการสอบสวนทราบว่า จากผู้ควบคุมคนงานทราบว่า อาคารกำลังก่อสร้างดังกล่าว สร้างเป็นอาคารที่พักอาศัยและออฟฟิศ ชื่อหมู่บ้าน บิลเลี่ยน คลับ วิลล่า เจ้าของโครงการ บริษัทเจ อาร์ วาย เรียล เอสเตท (ไทยแลนด์) จำกัด มีนายธีระชัย บุตรแก้ว เป็นวิศวกรออกแบบและคำนวณโครงสร้างและควบคุมงานก่อสร้าง นายเฉลิมศักดิ์ เปรมาสวัสดิ์ สถาปนิกออกแบบและควบคุมงาน ระยะเวลาการก่อสร้าง 365 วัน ระหว่างวันที่ 8 ก.ค.65 - 7 ก.ค.66 ก่อสร้างตั้งซ้ายขวา กว่า 10 อาคาร มีคนงานก่อสร้างทั้งหมด 130 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาวเมียนมา 

...

ก่อนเกิดเหตุเพื่อนคนงานด้วยกันตะโกนว่าอาคารจะถล่ม คนงานจำนวนหนึ่งวิ่งหนีออกมาจากที่เกิดเหตุทัน หลังจากนั้นโครงสร้างอาคารชั้น 4 และ 3 ถล่มลงมา

เบื้องต้นตรวจสอบพบคนงานชายหญิง 125 คน ยืนยันไม่มีผู้สูญหายและเสียชีวิต

ด้าน พล.ต.ท.ธิติแสงสว่าง ผบช.น. ภายหลังเดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วยตนเอง และใช้เวลาในการเข้าพื้นที่ไปตรวจสอบและหารือร่วมกับทางด้านของสำนักงานเขตห้วยขวางและ กทม. ก่อนเปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุได้ทำการตรวจสอบจำนวนแรงงานที่เข้ามาทำงานปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เกิดเหตุ แล้วพบว่าขณะเกิดเหตุมีคนงานทำงานอยู่ทั้งสิ้น 130 คน เพื่อความแน่ชัดจึงได้สั่งการให้เจ้าหนี้เจ้าหน้าที่ทำการเช็กยอดคนงานใหม่อีกครั้ง โดยการมีการนำรายชื่อคนงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการมาขานชื่อเป็นรายบุคคล ซึ่งพบคนงานประจำการอยู่บริเวณแห่งนี้ 125 คน และไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกจำนวน 5 คนจึงครบตามจำนวน

ส่วนวิศวกรผู้ควบคุมงานขณะนี้ได้เชิญตัวไปสอบปากคำที่ สน.มักกะสัน พื้นที่เกิดเหตุ แล้วพร้อมเสนอให้สำนักงานเขตมีคำสั่ง ยุติการก่อสร้างชั่วคราว โดยให้ปิดพื้นที่เพื่อรอการตรวจสอบความปลอดภัยทางด้านโครงสร้างเสียก่อน

ขณะที่ นายธีรยุทธ ภูมิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า จากการตรวจสอบแล้วไม่พบสัญญาณชีพติดค้างอยู่ใต้ซากอาคารแต่อย่างใด จึงมีคำสั่งให้ยุติการค้นหาทันที และจากการตรวจสอบรายชื่อแรงงาน พบขณะนี้ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ ส่วนจะปิดสถานที่เขตก่อสร้างเป็นเวลาเท่าไรนั้นยังไม่สามารถตอบได้ ขึ้นอยู่กับสำนักงานเขตห้วยขวาง แต่คาดว่าการจะกลับมาทำการก่อสร้างได้อีกครั้งต่อเมื่อมีการตรวจสอบโครงสร้างความปลอดภัยของตัวโครงสร้างอาคารแล้วเสร็จ

แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าโครงสร้างของอาคารถูกต้องสมบูรณ์แบบตามที่ขออนุญาตไว้ เพียงแต่การโหลดปูนขึ้นไปยังบริเวณชั้น 5 ไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เนื่องจากมีการนำปูนไปไว้ในจุดๆเดียว ไม่ได้มีการไม่ได้กระจายน้ำหนักไปยังพื้นที่อื่นจึงทำให้โครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหาผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.