"สมศักดิ์" รีบแก้ปัญหาคนพ้นโทษออกมาก่อเหตุซ้ำ เร่ง "ยุติธรรม" จัด Watchlist บุคคลอันตรายให้ครบ หลังกฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำ ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลใช้อีก 90 วัน สั่งตั้งอนุกรรมการศึกษาแบ่งเกณฑ์การจัดกลุ่ม-ใส่กำไลอีเอ็ม หวังให้สังคม-กลุ่มผู้หญิง รู้สึกปลอดภัย

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวง โดยมี น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมต่างๆ และผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมประชุม

โดย นายสมศักดิ์ กล่าวถึงความคืบหน้า พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือกฎหมาย JSOC ว่า ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้อีก 90 วัน คือ วันที่ 23 ม.ค. 66 ดังนั้นตนอยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ และการจัด Watchlist กลุ่มบุคคลอันตรายให้ชัดเจน เพราะเริ่มมีผู้พ้นโทษออกมาก่อเหตุ แต่กลับไม่อยู่ในการจัด Watchlist

ขณะที่ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา กฎหมาย JSOC ยังไม่จบ ทางกรรมาธิการฯ ก็มีการเพิ่มเติมมา จึงยังไม่มีการจัด Watchlist ทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้ผู้พ้นโทษบางรายที่ออกไปก่อเหตุนั้น ไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน Watchlist รวมถึงบางรายอาจยังไม่ชัดเจนว่าจะเข้าความผิดข้อใด ในการจัดกลุ่ม Watchlist ผู้ต้องขังที่ต้องเข้าข่ายทั้งข้อ 1 ประกอบด้วยความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน, ความผิดเกี่ยวกับเพศ, ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย, ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง, ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และข้อ 2 ประกอบด้วยฆ่าเด็ก หรือข่มขืนเด็ก, ฆ่าข่มขืน, ฆาตกรต่อเนื่อง, กระทำผิดซ้ำซาก, ฆาตกรโรคจิต, สังหารหมู่, ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ โดยทำให้บางรายเข้าหลักเกณฑ์เพียงข้อ 1 แต่ไม่เข้าเงื่อนไขข้อ 2 จึงไม่ถูกจัด Watchlist

...

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีกฎหมาย JSOC ออกมาแล้ว เราต้องเร่งจัด Watchlist ตามฐานความผิด 12 มาตรา ซึ่งตนจะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อให้ศึกษาการจัดกลุ่ม Watchlist ในการกำหนดว่าแต่ละมาตรการความผิดจะต้องมีการจัดอยู่ใน Watchlist ใด และต้องติดกำไลอีเอ็มหลังพ้นโทษเป็นเวลาเท่าไร โดยขอให้อนุกรรมการชุดนี้เร่งสรุปความคืบหน้าทุกสัปดาห์ พร้อมขอให้มีการหยิบยกคดีสำคัญขึ้นมาเป็นเคสตัวอย่างด้วยว่า ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ต้องติดกำไลอีเอ็มกี่ปี

"ก่อนหน้านี้ การจัด Watchlist ทำโดยยังไม่มีกฎหมาย แต่ขณะนี้มีกฎหมายป้องกันการกระทำผิดซ้ำแล้ว เพียงก่อเหตุรุนแรงก็จะเข้ามาตราต่างๆ ของกฎหมายนี้แล้ว ที่ต้องถูกเฝ้าระวัง ซึ่งการใส่กำไลอีเอ็มจะไม่เท่ากัน ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการพิจารณาและอนุกรรมการที่ผมตั้งขึ้นมาศึกษาแนวทางไว้ ซึ่งได้สั่งการให้เร่งด่วนที่สุด เพราะผมซีเรียสกับเรื่องนี้มาก รู้สึกเสียใจทุกครั้งที่ยังเจอข่าวผู้พ้นโทษออกมาก่อเหตุซ้ำ หรือข่าวสะเทือนขวัญกับกลุ่มผู้หญิง ดังนั้นผมจะเร่งจัดทำบุคคลอันตรายให้เร็วที่สุดเพื่อทำให้สังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยจากบุคคลอันตรายที่เราช่วยเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้ว" รมว.ยุติธรรม กล่าว.