รองโฆษกอัยการสูงสุด แจง อัยการไม่เคยแพ้คดีทนายปลอมพ่อค้าไก่หมุน คดีที่อ้างตกลงกันได้ จำหน่ายออกระบบไป ส่วนสภาทนายความ ชี้ พฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อโกง และละเมิดอำนาจศาล เตรียมหารือกับศาลเพื่อป้องกัน

จากกระแสข่าวมีการจับกุม นายพรเทพ คะเชนทร์ภักดิ์ ที่ปลอมเป็นทนายความ สวมรอยเลขทนายคนอื่นรับว่าความหลายคดี โดยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาศาลจังหวัดกำแพงเพชรจึงได้ตรวจสอบเลขที่คดี ซึ่งพบว่าไม่มีคดีดังกล่าวอยู่ในสารบบของศาล และได้ตรวจสอบรายชื่อทนาย ปรากฏว่าไม่พบผู้ต้องหาอยู่ในรายชื่อของสภาทนายความ โดยทราบว่าผู้ต้องหาได้ปลอมแปลงตั๋วทนาย เพื่อใช้ในการว่าความ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับศาลเป็นอย่างยิ่ง จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร และถูกจับกุมตัวได้ดังกล่าว และขณะนี้นำตัวไปฝากขังที่เรือนจำกลางกำแพงเพชร ในส่วนของการเป็นพ่อค้าขายไก่หมุนนั้น ผู้ต้องหาได้ขายจริงเมื่อ 2 ปีก่อน และเลิกขายไปแล้วตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าฝั่งอัยการสูงสุด นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยกรณีปรากฏข่าวพ่อค้าไก่หมุนปลอมเป็นทนายความและว่าความชนะอัยการคดียักยอกทรัพย์ ว่า นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้มอบให้ตนตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร่งด่วน ซึ่งตนได้โทรประสานงานไปยัง นายธนพล ประเสริฐดี แล้วอัยการจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งได้รายงานข้อเท็จจริงแจ้งมาเวลา 12.30 น. ว่าทางสำนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ศาลได้ช่วยกันตรวจสอบหาสำนวนตามที่เป็นข่าว กรณีพ่อค้าไก่หมุน ถึงคดียักยอก ที่แจ้งว่าอัยการแพ้คดีนั้น ตรวจสอบตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ยังตรวจไม่พบคดีดังกล่าวว่าเป็นสำนวนคดีใดยังไม่ปรากฏ คงตรวจสอบพบแต่คดีข้อหาฉ้อโกง ซึ่งบุคคลตามข่าวได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการ และคดีดังกล่าวตกลงกันได้ศาลจึงจำหน่ายคดี ข่าวที่เกิดขึ้นจึงไม่ปรากฏสำนวนคดียืนยันว่าเป็นเรื่องใด ยังปราศจากมูลความจริง ขณะนี้กำลังเร่งรัดตรวจสอบหาคดียักยอกตามข่าวต่อเนื่อง หากตรวจพบจะรายงานเข้ามาที่สำนักงานอัยการสูงสุดต่อไป

...

ที่สภาทนายความ ถ.บางเขน นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสุนทรพยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความ ร่วมกันแถลงข่าวกรณี “พ่อค้าไก่หมุน” ปลอมเป็นทนายความไปว่าความคดีในศาลจังหวัดกำแพงเพชร ว่า จากการดรวจสอบแล้วในเบื้องตันพบว่าบุคคลที่แอบอ้างไม่ได้เป็นทนายความ ดังนั้นการกระทำของบุคคลดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมายอยู่ในหลายบท ส่วนแรกเกี่ยวกับสภาทนายความทนายความ เข้าข่ายการกระทำความผิดมาตรา 33 ซึ่งกำหนดไว้ว่าห้ามมิให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นทนายความหรือถูกพักหรือถูกลบชื่อจากการจะใช้ความไปว่าความในศาลรวมทั้งยื่นคำร้องคำฟ้องต่างๆ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวจะมีโทษตามมาตรา 82 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264 และ 268 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เนื่องจากใบอนุญาตทนายความเป็นสมาร์ทการ์ดแล้วก็ในบัตรอนุญาตทนายความนั้นจะปรากฏลายมือชื่อของนายกสภาทนายความและนายทะเบียนสภาทนายความ ซึ่งเป็นลายมือชื่อหรืออิเล็กทรอนิกส์อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 269/1 มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท และความผิดตามมาตรา 269/4 ซึ่งระหว่างโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 140,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

พฤติกรรมดังกล่าวยังเป็นการไปหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่าตนเองเป็นทนายความ การกระทำดังกล่าวก็จะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง และอาจจะส่งผลไปถึง ฉ้อโกงประชาชนได้ เพราะผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก กระทำดังกล่าวสภาทนายความให้ความช่วยเหลือเนื่องจากเป็นความเดือดร้อนทั้งหมด นอกจากนี้การกระทำดังกล่าวยังเป็นการละเมิดอำนาจศาลอีกด้วย โดย ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้สั่งการให้นายทะเบียนทนายความเป็นผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้ทางพนักงานสอบสวนในเขตพื้นที่ดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างกับบุคคลทั่วไปที่จะมาแอบอ้างการประกอบวิชาชีพทนายความต่อไป

นายวิเชียร กล่าวว่า จากประสบการณ์ครั้งนี้ถือว่ารุนแรง เป็นการกระทำที่อุกอาจและร้ายแรงมาก ส่วนผลของคำพิพากษาบางคดีทราบว่าศาลได้พิพากษาไปแล้ว บางคดีถึงที่สุด ซึ่งตรงนี้ถือเป็นดุลยพินิจของศาลว่าจะพิจารณาต่อไปแบบไหนอย่างไร ส่วนคดีที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ศาลสามารถเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผ่านมาได้ เพราะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณามิชอบ โดยจะให้เริ่มแต่งตั้งทนายความที่แท้จริงเข้ามาใหม่ ปกติการที่ทนายความจะเข้าดำเนินการว่าความในศาล จะต้องได้รับการแต่งตั้งจากลูกความ และไปยื่นคำร้องต่อศาล พร้อมกับสำเนาในประกอบวิชาชีพทนายความเป็นหลักฐานว่าเป็นทนายความถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับอนุญาตให้ว่าความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ศาลได้ตรวจสอบ

นายกสภาทนายความ กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้วเรามีความตั้งใจว่าข้อมูลของสภาทนายความและศาลยุติธรรมจะต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อให้มีการตรวจสอบเวลามีการแต่งตั้งทนายความเข้าไปในคดี ศาลสามารถตรวจสอบได้ อันนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่เป็นแนวคิดที่ตนเองจะเข้าไปพูดคุยกับทางสำนักงานศาลยุติธรรมต่อไป.

...