สภาทนายความ เตรียมเข้าช่วยเหลือดูแลเรื่องคดี กรณี "น้องเต้" บัณฑิตเกียรตินิยม ถูกเยาวชนวัย 16 ซิ่งเก๋งบีเอ็ม ฝ่าไฟแดงพุ่งชนเสียชีวิต ชี้พ่อแม่ของผู้ก่อเหตุต้องร่วมรับผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ขณะที่แม่น้องเต้เผย ญาติคู่กรณีอ้างติดงานไม่ว่าง จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ

จากกรณีอุบัติเหตุเมื่อคืนวันที่ 30 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ได้รับแจ้งเกิดอุบัติเหตุบริเวณสี่แยกไฟแดง ถนนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ประตู 1 ก่อนถึงประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฯ โดยที่เกิดเหตุตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยที่เกิดเหตุพบรถยนต์เก๋ง บีเอ็มดับเบิลยู สีขาว สภาพด้านรถพังยับ ห่างออกไปประมาณ 30 เมตร พบรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นฟีลาโน่ สีแดง สภาพรถพังยับเยินเช่นเดียวกัน และพบร่างผู้เสียชีวิตเป็นชาย ทราบชื่อคือ นายธนพล แก้วมูล หรือเต้ อายุ 24 ปี ชาว อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ สภาพนอนจมกองเลือด กระดูกตามร่างกายหักหลายแห่ง โดยคนขับรถยนต์เก๋งเป็นเยาวชนชายวัยรุ่น อายุ 16 ปี ขับรถมากับเพื่อนวัยรุ่นด้วยกันรวม 3 คน โดยคนในรถยนต์เก๋งไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ซึ่งเยาวชนชายคนขับมีอาการตกใจ และยืนรอแสดงตัวกับตำรวจที่จุดเกิดเหตุ

ล่าสุดวันนี้ (2 ต.ค. 65) ทางด้านสภาทนายความภาค 3 เตรียมยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้านคดีความให้กับครอบครัวของนายธนพล แก้วมูล หรือน้องเต้ เหยื่อ BMW โดยนายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 กล่าวว่า หลังจากได้ทราบข่าวจากทางสื่อมวลชนแล้วเห็นว่า ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนพื้นที่เกิดเหตุนั้นอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอาจจะได้รับความลำบากในการเดินทางไปมาเพื่อติดตามเรื่องคดีความ ทางสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา จึงได้มีการหารือเตรียมเข้าให้ความช่วยเหลือในด้านคดีดีความ เพื่อดูแลเรื่องของสิทธิต่างๆ ของผู้ตายที่ควรได้รับ

...

ซึ่งถ้าหากทางครอบครัวผู้ตาย ยังไม่มีทนายความคอยดูแลเรื่องคดีสามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือสนับสนุนในการแต่งตั้งทนายความเพื่อดูแลคดีได้ที่สำนักงานสภาทนายความภาค 3 หรือสำนักงานสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางสภาทนายความจังหวัดนครราชสีมา ได้เตรียมทนายอาสาเอาไว้แล้วหากครอบครัวผู้เสียหายต้องการ

ขณะที่ทางด้านนางบุญลือ แก้วมูล แม่ของน้องเต้ บัณฑิตเกียรตินิยม มทส.ที่ถูกหนุ่ม 16 ปี ซิ่งเก๋ง BMW ขยี้ขณะจอดติดไฟแดงทางเข้าประตู 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีจนเสียชีวิต ได้กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนเองได้ไปรับศพน้องเต้ลูกชายมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดดอนชา ต.ท่าตะโก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ตั้งแต่เมื่อคืนวันที่ 1 ตุลาคม 2565 และมีกำหนดการฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ 8 ต.ค.นี้ ที่ไม่สามารถเอาศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้านวังแลง หมู่ที่ 5 ต.ท่าตะโก ซึ่งเป็นบ้านเกิดของน้องเต้ได้เพราะที่บ้านถูกน้ำท่วมสูง ไม่สามารถเข้าออกได้เลย การสัญจรไปมาก็ลำบาก

ส่วนทางคดีตำรวจ สภ.โพธิ์กลาง อ.เมืองนครราชสีมา ท้องที่เกิดเหตุได้เรียกญาติของคู่กรณีมาเจรจาเพื่อให้ดูแลค่าจัดการศพก่อน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้เพราะตนเองก็เร่งนำศพน้องเต้มาบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เพราะน้องร่างกายแหลกเหลวมาก ส่วนญาติคู่กรณีก็อ้างว่าติดงานไม่ว่าง จนถึงขณะนี้ตนก็ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากทางญาติคนขับรถ BMW อีกเลย ก็คงต้องประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลศพตามมีตามเกิดไปก่อน ส่วนกรณีที่ทางสภาทนายความภาค 3 นครราชสีมา จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องคดีตนก็ยินดีและจะได้นัดหารือในแนวทางการสู้คดีกันอีกครั้ง นางบุญลือฯ กล่าว


วันเดียวกัน ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมป์ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช (ทนายคดีประหารหมอวิสุทธิ์) รองโฆษกสภาทนายความ เผยถึงเหตุการณ์วัยรุ่นอายุ 16 ปี ขับรถเก๋งบีเอ็มชนรถจักรยานยนต์ชนบัณฑิตวิศวกรรม เกียรตินิยม ถึงแก่ความตาย

โดยกล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีที่กระทบต่อสังคมเพราะผู้ตายเพิ่งสำเร็จการศึกษาและเรียนดีจนได้เกียรตินิยมเมื่อเขามีศักยภาพขนาดนี้ เมื่อตายไป ใครจะไปอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา และจะมีช่องทางใดในการเยียวยาความเสียหายแก่ครอบครัวผู้เสียหาย เรื่องนี้นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความทราบข่าว จึงรายงานให้ ดร.วิเชียร ชุปไธสง นายกสภาทนายความฯ ซึ่งดร.วิเชียร เอง เคยมีประสบการณช่วยเหลือคดีสองบัณฑิตปริญญาโท ที่ขับรถอยู่ดีๆ บนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าอยุธยา แล้วถูกรถซุปเปอร์คาร์ชนตายทั้งสองคนมาแล้ว ซึ่งท่านช่วยเหลือทางคดีในการเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีนี้ก็คล้ายกัน นายกสภาทนายจึงสั่งการให้นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 3 ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ผู้เสียหายแล้วในวันนี้

...

ก่อนอื่นต้องเข้าในว่า คนก่อเหตุมีอายุ 16 ปี ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 27, 29 ดังนั้นจะไปเสนอชื่อจริงที่อยู่ของเขาไม่ได้ สื่อมวลชนส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามแล้ว แต่บิดามารดาของเด็กผู้ก่อเหตุต้องร่วมรับผิด หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร และใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มีบทลงโทษทางอาญาจำคุกบิดามารดาด้วย ถ้าฟังได้ว่ามีส่วนสนับสนุนเด็ก แม้ไม่ใช่โดยตรงก็ตาม ตามมาตรา 26 อนุสาม

ในส่วนฝ่ายผู้เสียหาย เห็นว่ากฎหมายแพ่งให้สิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ก่อเหตุละเมิดพร้อมดอกเบี้ย ตามความร้ายแรงของเหตุละเมิด โดยคำนวณจากฐานานุรูปของผู้ตาย ได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยคำนวณ ว่า หากผู้ตายมีชีวิตอยู่บิดามารดาจะได้รับอุปการะเป็นเงินเดือนละเท่าใด ปัจจุบันคำนวณให้ถึง 90 ปี ซึ่งฝ่ายเด็กที่ขับรถบีเอ็มต้องจ่าย โดยเรียกร้องและกำหนดค่าสินไหมเป็นรายเดือนรายปีก็ได้

นอกจากนี้คดีนี้ หากอัยการยื่นฟ้องก็สามารถขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ตามกฎหมาย ป.วิอาญา มาตรา 5 อนุสองประกอบมาตรา 30 และบิดามารดาจะใช้สิทธิ์เรียกค่าเสียหายตามมาตรา 44/1 เข้าไปในคดีอาญา โดยไม่ต้องแยกไปฟ้องคดีแพ่งก็ได้ เช่นค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ ค่าขาดไร้อุปการะต่างๆ

ในส่วนเยาวชนผู้ก่อเหตุ แน่นอนเขาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเยาวชน มาตรา 4 การดำเนินคดีต้องคำนึงถึงสภาพกายสติสัมปชัญญะ การตัดสินใจของเยาวชนมาประกอบ โดยจะมีที่ปรึกษากฎหมาย ที่ต่างกับทนายความคอยช่วยเหลือ และในส่วนของศาลก็จะคำนึงหลักการให้เยาวชนกลับตัวมาเป็นคนดีแก่สังคม อีกด้วย

"ปัจจุบันคนไทยมีวินัยในการขับขี่รถบนท้องถนนมากขึ้น แต่อุบัติร้ายแรง ก็เกิดเสมอ เช่นคดีหมอกระต่ายถูกตำรวจขี่รถจักรยานยนต์ชนในทางเท้า คดีสาววัยรุ่นชนรถตู้บนโทรลเวย์ทำให้อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ตายพร้อมคนอื่นรวม 9 ศพ สังคมจะต้องเข้าใจรับรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายว่าจะใช้ช่องทางใดที่สะดวกมีประสิทธิภาพ สภาทนายความในฐานะเป็นองค์กรกฎหมาย มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน นอกจากให้ความรู้แล้ว ก็ให้ความช่วยเหลือจัดทนายความให้ โดยคดีนี้จะนำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารในสัปดาห์หน้า.

...