"สมศักดิ์" นำทีมแถลงผลตรวจยึดรถหรูถูกโจรกรรมข้ามชาติ หลังอังกฤษขอความร่วมมือ เผยตามคืนได้แล้ว เร่งดีเอสไอเร่งสืบจัดการผู้ร่วมขบวนการทุกคน เตือนผู้ครอบครองอีก 9 คันไม่ร่วมมือระวังเจอคดีด้วย "ไตรยฤทธิ์" รับลูกทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นภาพลักษณ์ประเทศ พร้อมช่วยผู้เสียหายเต็มที่


เวลา 11.00 น. วันที่ 19 ก.ย. 65 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงผลการ "ปฏิบัติการไททาเนี่ยม” ตรวจยึดรถยนต์หรูที่ถูกโจรกรรมจากประเทศอังกฤษ พร้อมของกลางรถยนต์ จำนวน 26 คัน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ รับคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (MLAT) จากหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติ ของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ขอให้สืบสวน กรณีขบวนการโจรกรรมรถยนต์ราคาสูงจากประเทศอังกฤษ 35 คัน และนำเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ซึ่งมีราคารวมที่ประเทศอังกฤษประมาณ 2,400,000 ปอนด์สเตอร์ลิง เทียบเงินไทยมากกว่า 100 ล้านบาท โดยหากนำเข้ามายังไทยราคาจะเพิ่มเป็น 3 เท่า โดยดีเอสไอเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2560 ปัจจุบันสามารถสืบสวนติดตามยึดรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมได้ 26 คัน ยังติดตามยึดไม่ได้ อีก 9 คัน ซึ่งข้อมูลที่อังกฤษส่งมาให้ทั้งหมดในปี 2564 ดังนั้นการทำงานในตรงนี้ไม่ได้ล่าช้า ดีเอสไอจะเร่งรัดสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ เพื่อดำเนินคดีกับตัวการและผู้ร่วมขบวนการทุกคน

...

"ขอขอบคุณผู้ซื้อและครอบครองรถยนต์ ทั้ง 26 คัน ที่ยอมรับข้อเท็จจริงและได้ยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้พนักงานสอบสวน ยึดเป็นของกลางในคดี ขอเตือน บุคคลที่เป็นผู้ที่ครอบครองรถยนต์อีก 9 คัน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ติดต่อประสานไปแล้ว แต่ยังไม่ยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้ ท่านอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีได้หากไม่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ" นายสมศักดิ์ กล่าว

นายไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ระหว่างปี พ.ศ.2559-2560 หน่วยข่าวกรองอาชญากรรมยานยนต์แห่งชาติ สหราชอาณาจักร ร่วมกับตำรวจนครบาลลอนดอน ร่วมกันสืบสวนสอบสวนภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการไททาเนี่ยม” (Operation Titanium) กรณี ขบวนการโจรกรรมรถยนต์ราคาสูงส่งออกจากสหราชอาณาจักรแล้วนำเข้ามาในประเทศไทย และเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้อนุมัติให้เป็นคดีพิเศษ ที่ 78/2561 สำหรับรถทั้งหมดต้องประสานอังกฤษ ว่าผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของรถจะรับคืนอย่างไร ในส่วนของโชว์รูม ผู้นำเข้าต้องดูที่เจตนาว่าได้ร่วมกระบวนการหรือไม่ ซึ่งเราจะรีบดำเนินการทันที โดยกำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งดำเนินการ และมีการตั้งทีมสอบและทีมสืบแยกกันทำงานเพื่อความรวดเร็ว โดยดีเอสไอต้องการสร้างความเชื่อมั่น และท่านรัฐมนตรี ได้กำชับต้องเร่งดำเนินการ เพราะเรื่องนี้กระทบภาพลักษณ์ของประเทศ

"ขอบคุณผู้ซื้อและครอบครองรถยนต์ ทั้ง 26 คัน ที่ยอมรับข้อเท็จจริงและได้ยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้พนักงานสอบสวน ยึดเป็นของกลางในคดี ผู้ที่เป็นผู้ซื้อและครอบครองรถยนต์ทั้ง 26 คัน สามารถใช้สิทธิตามกฎหมาย (แพ่ง) ฟ้องร้องผู้ที่จำหน่ายรถยนต์ให้ท่านได้ ยินดีสนับสนุนพยานหลักฐานและเป็นพยานให้ท่าน ในฐานะที่ท่านเป็นผู้ซื้อโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน" อธิบดีดีเอสไอ กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.พะเยา กล่าวว่า การดำเนินการของดีเอสไอนั้น เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2560 ได้นำหมายค้นไปตรวจค้นเป้าหมาย 9 จุด พบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น สี และเลขตัวรถ ตรงตามบัญชีรถยนต์ของอังกฤษ จอดอยู่ที่โชว์รูม บจ.ส.ธรรมธัชช (STT. Auto Car) 2 แห่ง 7 คัน จึงได้ยึดและอายัดไว้ จากนั้นได้รับแจ้งจากกรมศุลกากรว่ามีบริษัทรถยนต์จากประเทศอังกฤษ ประสานมาว่าเป็นรถที่ถูกโจรกรรม อยู่ในเขตปลอดอากร (Free Trade Zone) จึงเข้าตรวจสอบและยึดอายัด 7 คัน และเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ขอให้ทางอังกฤษสืบสวนและส่งพยานเอกสารและหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับรถยนต์ 35 คัน ที่ถูกโจรกรรมมาให้เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี จนกระทั่งวันที่ 13 ก.ย. 2564 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับเอกสารและพยานหลักฐานต่างๆ ของรถยนต์ทั้ง 35 คันจากอังกฤษ

พ.ต.ท.พะเยา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลทราบว่า กลุ่มคนไทย ที่มีโชว์รูมจำหน่ายรถหรู ร่วมมือกับกลุ่มคนต่างชาติในอังกฤษ โดยเครือข่ายกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ติดต่อทำสัญญาเช่าซื้อหรือเช่ารถยนต์ ระยะสั้น แล้วนำไปส่งมอบให้กับเครือข่ายอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่ในการจัดทำเอกสารเท็จหรือปลอม อาทิ ใบตราส่งสินค้า ใบแจ้งหนี้ (Invoice) เพื่อตบตาศุลกากร จากนั้นรถยนต์ทั้ง 35 คัน ถูกส่งออกจากอังกฤษทางเครื่องบินจากสนามบินฮีทโธรว์ ไปยังประเทศสิงคโปร์ แล้วขนส่งทางเรือจากประเทศสิงคโปร์เข้ามายังประเทศไทย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ถึง มีนาคม 2560 มีการสำแดงหลักฐานเป็นรถมือหนึ่ง โดยปลอมแปลงเอกสารนำเข้าทั้งหมด เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ศุลกากร

ต่อมาได้ติดตามรถยนต์มาได้ 26 คัน อยู่ในความครอบครองของเจ้าของที่ซื้อมา โดยไม่รู้ว่ารถตัวเองเป็นรถที่ถูกโจรกรรมมา ส่วนอีก 9 คัน เจ้าของยังไม่ยอมคืนรถให้ ซึ่งหากผู้ครอบครองให้ความร่วมมือคืนรถยนต์ให้กับเจ้าหน้าที่จะไม่ถูกดำเนินคดี แต่ผู้ที่ไม่คืนจะถูกดำเนินคดีในฐานรับของโจร ซึ่งเจ้าของรถสามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทที่ขายรถให้

นอกจากนี้ยังพบว่า รถทั้ง 35 คัน นำเข้าโดยบริษัทเพียงรายเดียว จากนั้นได้ขายรถทั้งหมดให้กับบริษัทขายรถนำเข้า ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับลูกค้า ซึ่งบริษัทนำเข้าดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินคดีสำแดงภาษีนำเข้าอันเป็นเท็จ และนำเข้ารถที่ถูกโจรกรรม

จากนั้นทั้งคณะได้ลงมาเดินดูรถของกลางที่ยึดได้ทั้ง 26 คัน บริเวณหน้าอาคาร โดยยี่ห้อรถยนต์และรุ่นรถ อาทิ แลมโบกีนี ฮูราแคน สไปเดอร์, เฟอร์รารี, BMW-M4, เบ็นซ์ AMG, นิสสัน GTR, ปอร์เช่ คาเยน, เรนโรเวอร์ สปอร์ต, มินิคูเปอร์, ฟอร์ด มัสแตง, เล็กซัส, อาวดี้ Q7, โฟล์คสวาเกน และ ฮอนด้า GT Type-R เป็นต้น.

...