เลขาธิการ ป.ป.ส. แจงกรณียาอีรูปหมีสีเหลือง หรือยาอีหมีพูห์ อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์สารสำคัญ ชี้ เป็นรูปแบบทางการค้า เตือนอันตรายถึงชีวิต เมื่อใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ได้เปิดเผยถึงการจับกุมยาอีรูปหมีสีเหลือง หรือยาอีหมีพูห์ ที่ จ.นครพนม จำนวน 18,807 เม็ด พร้อมยานอนหลับ จำนวน 54,939 เม็ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 โดยยาอีและยานอนหลับดังกล่าวจะมีการตรวจพิสูจน์สารแบบละเอียดเพื่อจำแนกสารประกอบต่อไป ทั้งนี้เตือนถึงการใช้ยาเสพติด เช่น ยาอีมีอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจและเสียชีวิตได้
นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวอีกว่า ยาอี (Ecstacy) จัดอยู่ในยาเสพติดประเภท 1 มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ methylenedioxy methamphetamine หรือ MDMA โทษทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายยาเสพติด หากจำหน่ายและทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท หรือประหารชีวิต ผู้ที่เสพยาอีประสาทส่วนกลางจะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง มีอาการประสาทหลอน เห็นภาพผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หายใจเร็ว โดยผู้ที่เสพยาอีเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคทางจิต
โดยยาอีเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวกลางคืน บ่อยครั้งจะพบว่านักเที่ยวจะใช้ยาอีร่วมกับแอลกอฮอลล์รวมถึงยาเสพติดชนิดอื่น เช่น คีตามีน โดยรูปแบบที่ขายกันในหมู่นักเที่ยวมักจะมีลักษณะคล้ายขนมของเด็ก มีสีสด มีรูปร่างที่หลากหลาย โดยเชื่อว่ายาอีรูปหมีที่จับกุมได้ที่ จ.นครพนม อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิตเพื่อจุดประสงค์ทางการค้า
ขณะนี้ของกลางยาอีดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ส่วนผสมเพื่อจำแนกเป็นฐานข้อมูลลักษณะเฉพาะของยาเสพติด (Drug profile) ทั้งนี้ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยจับกุมยาอีที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับที่ปรากฏเป็นข่าว จำนวน 2 คดี โดยคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่ ต.นิยมชัย จ.ลพบุรี จับกุม ยาอีรูปหมีสีเหลือง จำนวน 28,930 เม็ด และคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จับกุมยาอีรูปหมีสีม่วง จำนวน 42,000 เม็ด โดยทั้ง 2 คดี มีจำนวนสาร MDMA (methylenedioxy methamphetamine) จำนวนใกล้เคียงกันที่ 48 เปอร์เซ็นต์
...
เลขาธิการ ป.ป.ส.ได้กล่าวเตือนถึงการใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นว่า ยาอี ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท จะเป็นการเสริมฤทธิ์ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน ปกติก็มีความผิดทางกฎหมายและความรุนแรงต่อผู้ใช้อยู่แล้ว แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพยาผสมกับยาชนิดอื่น เช่น คีตามีน ยานอนหลับ ที่มีฤทธิ์กดประสาท ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อผู้ใช้โดยอาจก่อให้เกิดภาวะหยุดหายใจ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้.