ตำรวจ บก.สอท.3 รวบ 4 คนร้ายแก๊งแฮกเฟซบุ๊กแฮกไลน์ มีชาวต่างชาติสอน หลอก ขรก.ที่ขอนแก่น เอา OTP ไปแฮกเฟซบุ๊กและไลน์ หลอกเอาเงินคนไทยกว่า 10 ล้านบาท สอบประวัติเคยก่อคดีมา 2 คดี

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ห้องประชุม บก.สอท.3 (กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3) พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง ผบก.สอท.3 พร้อมด้วย พ.ต.ท.ไพรวัลย์ อายุวงษ์ รอง ผกก.4 บก.สอท.3 พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายนาย ร่วมกันแถลงข่าวผลการจับกุมกลุ่มคนร้าย 4 คน คือ น.ส.สโรชา เอี่ยมลออ อายุ 28 ปี ชาวบ้านถนนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร, น.ส.สุนี ภู่อ่าง อายุ 18 ปี ชาวบ้านหมู่ 10 แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร, นายสมชาย แสนธิเลิศ อายุ 22 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และนายหลง (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) อายุ 17 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 9 ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ทั้งหมดโดนข้อหากระทำความผิดฐานเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น อันเป็นความผิดตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2440 มาตรา 5, 14 (1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 พร้อมของกลางคอมพิวเตอร์ 1 ชุด, ซิมการ์ดโทรศัพท์ 76 ซิม

พล.ต.ต.มนเทียร พันธ์อิ่ม รอง ผบช.สอท. กล่าวถึงการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 4 คนว่า เนื่องจากมีคนร้ายแฮกเฟซบุ๊กของ นายสุธี ปรารถนายิ่งยศ ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมข้าราชการฝ่ายตุลาการ แต่ปัจจุบันได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว โดยคนร้ายได้สวมรอยเป็นนายสุธี และส่งข้อความทางหมายเลขโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในจังหวัดขอนแก่น แจ้งว่าไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของผู้เสียหาย ขอให้ผู้เสียหายส่งหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับไลน์มาให้เพื่อใช้ติดต่อด้วย

...

ผู้เสียหายหลงเชื่อคนร้ายว่าเป็นนายสุธีตัวจริงซึ่งเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับผู้เสียหาย จึงได้ส่งหมายเลขโทรศัพท์ไปให้คนร้าย จากนั้นได้มีข้อความมายังโทรศัพท์ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นรหัส OTP คนร้ายได้สอบถามรหัสดังกล่าว ผู้เสียหายหลงเชื่อได้ส่งรหัส OTP ดังกล่าวไปให้บุคคลที่อ้างว่าเป็นนายสุธี (ส่งรหัส OTP ให้คนร้าย) ทางข้อความ หลังจากนั้นปรากฏว่าไลน์ของผู้เสียหายที่เครื่องโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคนร้ายได้เข้าไปควบคุมไลน์ของผู้เสียหายที่มีรหัสผ่านเป็นการเฉพาะ แล้วสวมรอยเป็นผู้เสียหาย และแสดงตัวเป็นผู้เสียหาย

ต่อจากนั้นเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2565 คนร้ายได้เข้าใช้งานไลน์และเข้าถึงข้อมูลในไลน์ของผู้เสียหาย แล้วเข้าควบคุมสวมรอยและแสดงตนเป็นผู้เสียหาย แล้วทักไปไลน์หลอกยืมเงินจากบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นเพื่อนในไลน์ของผู้เสียหาย โดยไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ที่มีอยู่ทั้งประเทศ เพื่อขอให้เพื่อนในไลน์ผู้เสียหาย ชำระค่าบริการค่าโทรศัพท์ให้ โดยมีเพื่อนในไลน์ท่านผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้คนร้ายจำนวนหลายราย โดยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีผู้เสียหาย 4 ราย ความเสียหายร่วมสองแสนบาท และได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ให้ดำเนินคดีกับคนร้ายที่ร่วมกันก่อเหตุ

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สืบสวนจนทราบแหล่งกบดานของคนร้ายที่ทำหน้าที่แฮกเฟซบุ๊ก ซึ่งพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย จึงทำการตรวจสอบในจุดที่ต้องสงสัย แต่ไม่พบตัว เนื่องจากคนร้ายไปเข้าพักที่โรงแรม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตามไปควบคุมตัวเอาไว้ได้ 2 คน คือ นายสมชาย แสนธิเลิศ อายุ 22 ปี และนายหลง อายุ 17 ปี ทั้งสองคนยอมรับว่าเป็นคนทำหน้าที่แฮกเฟซบุ๊กของผู้เสียหายหลายราย จากนั้นได้มีการสอบสวนขยายผลจับกุมบุคคลที่ทำหน้าที่รับโอนเงิน หรือคนที่ถือบัญชีม้า และสามารถจับกุมตัวได้ 2 คน ในบ้านพักที่กรุงเทพมหานคร คือ น.ส.สโรชา เอี่ยมลออ กับ น.ส.สุนี ภู่อ่าง

จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ยอมรับสารภาพว่า ไม่มีความรู้ทางเทคโนโลยี เพราะจบแค่ ป.6 แต่เนื่องจากมีหัวหน้าทีมเป็นชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านมาติดต่อพูดคุยให้รวมทีมกันทำงาน โดยชาวต่างชาติรายนี้จะทำหน้าที่เป็นเทรนเนอร์มาสอนและมาแนะนำวิธีทำ วิธีลงมือ วิธีล่อหลอก และการใช้คำพูด เพื่อหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อ เมื่อได้ทีมครบ 4 คนแล้วก็แบ่งหน้าที่กันทำงาน

ทั้งนี้ นายสมชาย กับนายหลง จะแฮกเฟซบุ๊ก หรือไลน์ของบุคคลอื่น แล้วสวมรอยเป็นบุคคลนั้น ส่งข้อความไปหลอกลวงบุคคลอื่นที่เป็นเพื่อนของบุคคลที่ได้สวมรอยเป็นบุคคลที่แฮกเฟซบุ๊ก หรือไลน์ หลอกขอยืมเงิน เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินมาให้ ผ่านบัญชีทรูมันนี่วอลเล็ท จากนั้นจะนำเงินจากบัญชีทรูมันนี่วอลเล็ทไปซื้อพินเล่นเกม เพื่อเป็นการฟอกเงินผ่านร้านเกม นำเงินที่ได้โอนเข้าบัญชีธนาคารของตนเอง ทางร้านเกมจะโอนเงินเข้าบัญชี จากนั้นจะโอนเงินต่อไปยังบัญชีอื่น เพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามได้ และไปกดเงินสดนำเงินสดมามอบให้

พ.ต.ท.ไพรวัลย์ อายุวงษ์ รอง ผกก.4 บก.สอท.3 กล่าวว่า จากการสืบสวนสอบสวน และจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ สามารถดำเนินการตัดวงจรเครือข่ายผู้กระทำผิดได้ คือ อายัดบัญชีทรูมันนี่วอลเลตที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวน 138 บัญชี ตรวจยึดของกลาง (ซิมการ์ด) ในคดีจำนวน 76 ซิม ที่ใช้สมัครกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อายัดบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 10 บัญชี

...

รอง ผกก.4 บก.สอท.3 กล่าวด้วยว่า จากการตรวจสอบพบว่ายังมีผู้เสียหายที่ถูกผู้ต้องหาแฮกเฟซบุ๊ก หรือไลน์ สวมรอยหลอกลวงยืมเงิน ที่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 38 คดี มีผู้เสียหายที่แจ้งความในระบบแจ้งความออนไลน์ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 จำนวน 90 คดี มูลค่าความเสียหายทั่วประเทศ ประมาณ 10 ล้านบาท และจากการตรวจสอบข้อมูลโดยละเอียดพบว่านายสมชายได้เคยก่อเหตุแฮกไลน์ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเคยถูกจับกุมดำเนินคดีมาก่อนจำนวน 2 คดี เพิ่งพ้นโทษมาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 หลังพ้นโทษ นายสมชายได้ก่อเหตุแฮกไลน์แล้วหลอกยืมเงินอีกเรื่อยมา จนกระทั่งถูกจับกุมในคดีนี้.