• กระแสปลดล็อกกัญชาเสรียังแรง มีทั้งผู้สนับสนุนและเริ่มมีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกตด้วยความเป็นห่วง ซึ่งการปลดล็อก "กัญชาเสรี" ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฉบับใหม่ ยังไม่คลอดผ่านสภาฯ รัฐบาลยังไม่มีกฎหมายเฉพาะด้านในการกำกับควบคุมการปลูกกัญชา การใช้กัญชา และการเสพกัญชาครบวงจร มาตรการห้ามคนสูบกัญชาขับรถ หรือห้ามขายกัญชาให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามเด็กเยาวชนเสพกัญชา ฯลฯ ยังไม่มีกำหนดโทษความผิดอย่างชัดเจน การเปิดกัญชาเสรีจึงยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์!


โดยทาง นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ออกมาเปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวตนห่วงใยถึงผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบกัญชาแล้วขับรถ เนื่องจากกัญชามีผลต่อสมอง ทำให้สมรรถนะการขับขี่ลดลงเหมือนเมาสุราแล้วขับ ฐานะที่ทำงานรณรงค์เมาไม่ขับมากว่า 30 ปี เรื่องนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอย่างมาก เพราะจากนี้บนท้องถนนนอกจากเจอคนเมาแล้วขับร่วมทางแล้ว คนไทยยังต้องเผชิญกับคนเมา (กัญชา) แล้วขับอีก ถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่งกับประชาชน เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายลงโทษคนเมา (กัญชา) แล้วขับ

ขอวิงวอนพี่น้องประชาชน ถ้าสูบกัญชาอย่าออกมาขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นอันตรายทั้งผู้ขับขี่และผู้ร่วมทางบนท้องถนน ขณะเดียวกัน ฝากไปยังรัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการควบคุมการสูบกัญชาแล้วออกมาขับรถ เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมบนท้องถนนซ้ำเติมสถานการณ์อุบัติเหตุของประเทศไทยที่รุนแรงอยู่แล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ สอบถามไปยัง พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ในฐานะคณะทำงานแก้ปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มิ.ย. 65) ทางตำรวจได้มีการประชุม นำโดย พล.ต.อ.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ได้นำเสนอแนวทางเรื่องกัญชา ว่า วันนี้การเสพกัญชาแล้วขับรถจะเป็นอันตรายหรือไม่ และในส่วนของกฎหมายควรจะทำอย่างไรเพื่อควบคุม

...

ซึ่งก็ได้มีการมอบหมายให้ไปศึกษาข้อมูล แล้วจึงกลับมานำเสนอ ผบ.ตร. ว่า ถ้ามีข้อมูลเป็นที่ประจักษ์เพียงพอจะพิสูจน์ได้ว่า การเสพกัญชาปริมาณมาก แล้วมีผลต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ ควบคุมรถ นำไปสู่หนทางที่จะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจจะมีระเบียบข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า การเสพกัญชาแล้วมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ในเลือดเกินกว่าเท่าไร เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 43 (2) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น โดยพืชกัญชาพอพ้นออกจากยาเสพติดมาแล้ว อาจจะต้องไปเทียบเคียงเป็นของมึนเมาอย่างอื่น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและนำกลับมาพิจารณา และคงต้องรอดู พ.ร.บ.กัญชาฯ ด้วยว่ามีบทบัญญัติอย่างไร ซึ่งต้องใช้สองอย่างประกอบกัน

ถ้าหาก พ.ร.บ.กัญชา มีข้อห้ามขึ้นมาชัดเจน คงต้องใช้มาตรา 43 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท แต่ถ้า พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ชัดเจน เราอาจต้องใช้มาตรา 43 (2)

เมื่อถามว่า ทางตำรวจจะมีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก หรือไม่ พล.ต.ต.เอกรักษ์ เผยว่า เรื่องนี้อยู่ในอำนาจ ผบ.ตร. กำหนดว่า กัญชาเป็นของมึนเมาอย่างอื่น แต่ว่าจำเป็นต้องมีตัวเลข หรือมีค่าทางวิทยาศาสตร์ด้วย

“บางคนที่ใช้กัญชารักษาโรค หรือใส่อาหาร ปริมาณ THC ที่ค่อนข้างต่ำ เรายังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเมา เพราะฉะนั้นเราคงต้องหาค่าว่ามีปริมาณเท่าไรจึงจะถือว่าเมา แล้วทางตำรวจจึงจะดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้คงไม่ถึงขั้นต้องรอให้เกิดเคสอุบัติเหตุเมากัญชาขับรถอันตรายขึ้นมาก่อน แต่ว่าต้องมีรายงานผลการวิจัยทางการแพทย์เอามาประกอบด้วย เพราะการที่จะออกกฎหมายอะไรที่มีการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษพลเมือง ต้องมีข้อมูลเพียงพอประกอบการออกคำสั่ง คือทุกคนรู้ว่าถ้าเมากัญชาแล้วอันตราย ต้องดูว่าเมาขนาดไหน ตัวเลขค่าเท่าไรถึงจะเป็นเกณฑ์ว่า "เมา" ค่าเท่าไรจะถือว่าไม่เมา”

ณ ตอนนี้ มาตรการควบคุมการการสูบกัญชาแล้วขับรถ ทางตำรวจอยู่ระหว่างทำการศึกษาหาข้อมูลว่าปริมาณกัญชาในกระแสเลือดเท่าไรจึงจะถือว่าเมา และมีผลต่อการขับรถ ถ้าเกิดเรามีตัวเลขเพียงพอเมื่อไหร่ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจออกกฎหมายมาเพื่อควบคุมในเรื่องนี้

พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า ขอทำความเข้าใจว่า ถึงแม้กรณีเมากัญชาแล้วขับรถ ยังไม่เข้าข้อกฎหมายมาตรา 43 (2) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น แต่กฎหมายให้อำนาจอยู่แล้ว ซึ่งเราไม่ต้องแก้ข้อกฎหมาย แต่ว่าการที่จะประกาศว่า กัญชาเป็นของมึนเมาอย่างอื่น ตามความผิดในมาตรานี้ ก็ต้องมีข้อมูลเพียงพอที่จะใช้ในการออกประกาศ

ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ว่า การเสพกัญชาในปริมาณที่สูง มีผลทำให้ความสามารถในการขับรถลดลง อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุและอันตรายได้ เพราะฉะนั้นทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังจะกำหนดแนวทางในการควบคุมตรงนี้อยู่ คาดว่าภายในไม่กี่วันนี้ก็คงจะมีการหาข้อมูลและสรุปรายงานเพื่อตั้งคณะทำงานมาศึกษา และออกรายละเอียดข้อกำหนดกฎหมาย

“ยืนยันว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ กำลังเร่งรัดแนวทางออกข้อกำหนดกฎหมายเพื่อควบคุมบุคคลที่เสพกัญชาแล้วขับรถ ถ้ามีสาร THC ในปริมาณมากเกินไป จนกระทั่งเป็นอันตรายต่อผู้อื่นในที่สาธารณะ ต่อไปจะเป็นความผิด แต่ตัวเลขเท่าไรนั้นคงต้องรอข้อมูลความชัดเจนจากทางการแพทย์ และข้อมูลรอบด้านก่อนกำหนดหลักเกณฑ์” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย.

...

กราฟิก : Anon Chantanant